วันศุกร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2556

รู้เขา...รู้เรา   บนเส้นทางการกินเพื่อสุขภาพ


 
     ในกระแสสังคมแห่งการกินเพื่อสุขภาพในปัจจุบัน  มีความหลายในองค์ความรู้ด้านการกินเพื่อสุขภาพ  หลายหลายแนวทางปฏิบัติเพื่อให้ได้มาซึ่งสุขภาพที่แข็งแรง  เน้นทั้งอาหารการกิน และการปฏิบัติตน  เมื่อเข้าไปหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตก็จะพบข้อมูลมากมาย  มากจนบางครั้งไม่รู้ว่าจะเลือกวิธีการใดดี  เพราะแต่ละต้นตำหรับก็ต่างยืนยันในแนววิธีของตน  และสำหรับคนที่กำลังมองหาหนทางว่าจะเลือกแบบไหนดีก็คงยากในการตัดสินใจ   จากการที่ผมได้คุยกับเพื่อนร่วมงาน  ส่วนใหญ่ก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า  มันยากที่จะทำได้ตามนั้น  เพราะวิถีชีวิตปัจจุบันไม่เอื้ออำนวย  ทั้งในเรื่องของเวลา  แหล่งที่ให้ได้มาซึ่งอาหารนั้น ๆ และความยุ่งยากของกระบวนการในการเตรียมอาหาร  และที่สำคัญคือความไม่มีวินัยในตนเองมากพอที่จะดึงดันฝืนวิถีที่เคยชิน   ปฏิบัติได้ไม่กี่คราวก็มีอันต้องเลิกราไปก่อนที่จะเห็นผล   และสิ่งหนึ่งที่ผมเห็นคือส่วนใหญ่ทำไปตามคำบอกเล่า ทำตาม ๆ กัน  กินตาม ๆ กันเพราะได้ยินว่ามันดี   ก็กินตามแนวนั้น ๆ โดยที่มีความรู้น้อยเหลือเกินหรือแทบไม่มีเลยว่าร่างกายของเราต้องการมันมากน้อยแค่ไหน
     ตัวผมเองก็มีความสนใจในการหาแนวทางแห่งการกินเพื่อสุขภาพ  พยายามหาวิธีที่สอดคล้องกับวิถีของตนเองให้มากที่สุด  สุดท้ายก็เกิดความสงสัยว่าเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราต้องการอะไรในปริมาณแค่ไหนอย่างไร  แล้วก็พยายามไปค้นหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ต  สุดท้ายก็ไม่ได้คำตอบ  แต่ได้องค์ความรู้มากมายว่าวิธีหรือแนวปฏิบัตินั้น ๆ จะส่งผลอย่างไรในหลักการ   และองค์ความรู้มากมายเกี่ยวกับสรรพคุณของอาหารเพื่อสุขภาพ  แต่ก็ไม่พบข้อมูลไหนเลยที่บอกว่าความเหมาะสมที่จะเป็นผลนั้นจะต้องทานมากน้อยแค่ไหนอย่างไร   มันเหมือนกับว่าเรารู้เขา  คือรู้ว่าอาหารแต่ละชนิดหรือแต่ละประเภทมีข้อดีข้อเสียอย่างไร  แต่เรากลับไม่รู้เรา  คือไม่รู้ว่าร่างกายของเราจะเอาสรรพคุณนั้น ๆ มาใช้ให้เกิดคุณและลดโทษได้อย่างไร   หากเป็นเช่นนี้   รบร้อยครั้งก็คงจะแพ้ร้อยครั้งดั่งคำโบราณว่าไว้เป็นแน่
     เป็นความโชคดีที่ก่อนปีใหม่  ผมได้รับกรุณาจากอาจารย์มณีวรรณ  กมลพัฒนะ  ท่านได้ให้หนังสือผมมาหนึ่งเล่ม  เป็นหนังสือที่ท่านเขียนขี้นมาเองชื่อว่า "ชีวิต  ได้เลือก"    เมื่อได้อ่านหนังสือเล่มนี้ผมก็ได้พบคำตอบในคำถามที่เกิดขึ้นเมื่อครั้งที่อาจารย์ได้พูดเกี่ยวกับการรับประทานอาหารเพื่อเป็นยา  ซึ่งผมได้เขียนไว้ในโพสต์ก่อนหน้านี้ในหัวข้อ  "โรงเรียนชีวิต  กับโอกาสในการเรียนรู้"  ซึงเป็นตอนที่ผมได้ไปเยี่ยมชมมูร่าห์ฟาร์มและได้พูดคุยกับอาจารย์เกี่ยวกับการกินอาหารตามแนวทางของคุณหมอสุชาติ  ที่อาจารย์ยึดเป็นแนวปฏิบัติจนมีสุขภาวะดีขึ้นอย่างชัดเจน เช่น  ความดันเลือดกลับมาเป็นปกติโดยไม่ต้องทานยา  และก็มีโอกาสได้ทดลองกินอาหารซึ่งเน้นโปรตีนและไขมันมากกว่าแป้ง  ซึีงตอนนั้นก็เกิดความสงสัยถึงกลไกของอาหาร  แต่ก็ยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนจากอาจารย์  พอได้มาอ่านหนังสือเล่มนี้จึงเข้าใจถึงกลไก  และเข้าใจว่าอาจารย์คงยังไม่อยากบอกในตอนนั้น  แต่อยากให้มาอ่านในหนังสือมากกว่า
     หลังจากที่ได้พยามทำความเข้าใจในกลไกต่าง ๆ ของการกินเพื่อสุขภาพ  ทั้งในแง่ของตัวอาหาร  และในแง่ของกลไกการทำงานของร่างกายของเรา  ก็เกิดความคิดความเข้าใจขึ้นมาว่าคนเรานี้หากจะกินอาหารเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพจริงๆ ต้องใช้หลักรู้เขารู้เรา  รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง  หมายความว่าเราต้องศึกษาให้รู้จริงว่าอาหารนั้น ๆ มีคุณอย่างไร  และต้องศึกษาร่างกายของเราให้รู้อย่างจริง ๆ ด้วยว่าเราต้องการอาหารนั้น ๆ แค่ไหน  คือเราต้องเข้าใจกระบวนการตั้งแต่เราเอาอาหารเข้าปากแล้วร่างกายของเรามันเล่นแร่แปรธาตุอาหารให้ไปอยู่ตรงไหน อย่างไร   เราจึงจะเอาชนะความอ่อนแอของสุขภาพได้   ปัจจุบันผมเข่าใจได้ในหลักการว่าจะทานอาหารอย่างไรร่างกายจึงจะนำคุณค่าจากอาหารไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเกิดพิษหรือผลเสียน้อยสุด  แต่จะให้อธิบายอย่างละเอียดก็ถือเป๊นเรื่องที่รู้เพียงผิวเผิน
     สำหรับผู้ที่สนใจอยากรู้ว่าอาหารมีคุณอย่างไร  และร่างกายเราจะใช้มันได้อย่างไร  ผมขอแนะนำหนังสือ  "ชีวิต  ได้เลือก"   ของอาจารย์มณีวรรณ  กมลพัฒนะ  เมื่อได้อ่านท่านจะไม่ได้เข้าใจเพียงหลักในการกินอาหารเพื่อสุขภาพ  แต่ยังมีอีกหลายอย่าง  หลายแง่คิดมุมมองที่ส่องทะลุก้าวไกลตามประสบการณ์ของท่าน  สอดแทรกอยู่ในหนังสือเล่มนี้
 
                                                                                                 ราเมศร์  เรืองอยู่