วันเสาร์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2555

วันลอยกระทง


         วันลอยกระทงปีนี้ตรงกับวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๕  เป็นอีกปีที่เหนื่อยแต่มีความสุขเช่นเคย  งานกิจกรรมบำบัดจัดให้คนไข้ทำกระทงเช่นทุกปี  และกลางคืนเราก็จัดนางนพมาศน้อยมาสร้างสีสรรก่อนที่จะให้คนไข้ลอยกระทงพร้อมกัน  ดูบรรยากาศนะครับ  จะเห็นงานเล็ก ๆ ในบรรยากาศที่แสนโรแมนติค  จากความตั้งใจของเจ้าหน้าที่และผู้สนับสนุน


 
 
 


 


 
 

วันศุกร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ลอยกระทง...ไม่หลงทาง

          ทุกปีที่วันลอยกระทง ตรงกับวันธรรมดาที่ไม่ใช่เสาร์อาทิตย์  ที่ทำงานของผมก็จะจัดกิจกรรมกลุ่ม โดยให้ผู้ป่วยที่เข้ามาฟื้นฟูสภาพร่างกายได้ทำกระทง  และลอยกระทงกัน  โดยให้แต่ละคนทำกระทงเท่าที่จะทำได้ เช่น เช็ดทำความสะอาดใบตอง  ฉีกใบตอง  เด็ดดอกไม้  แต่หากคนไหนใช้มือได้ดี  และมีความสามารถก็ให้ทำเป็นกระทงเลย  และเราก็เน้นทำกระทงจากวัสดุธรรมชาติเพื่อลดขยะที่ย่อย สลายไม่ได้  พอค่ำ ๆ เราก็พาคนไข้มารวมกันที่ริมคูน้ำริมสวนหย่อม เพื่อทำพิธีลอยกระทงพร้อมกัน  เป็นภาพแห่งความประทับใจที่ได้เห็นคนป่วยได้ทำกิจกรรมของการดำเนินชีวิตด้านวัฒนธรรมประเพณีโดยที่ตนเองยังเจ็บป่วยนั่งรถเข็น   ได้ยกกระทงอธิฐานตามความเชื่อทางจิตวิญญาณ   อันเป็นก่ารรักษาสมดุลย์ของรูปแบบชีวิต   ไม่เทไปทางเจ็บป่วยอย่างเดียว  ส่วนตัวผมเองและเจ้าหน้าที่ที่มาช่วยกันจัดงานก็มีความสุข   เท่า ๆ กับความเหน็ดเหนื่อย    แต่เมื่องานเสร็จความเหน็ดเหนื่อยก็หายไป  แต่ความสุขใจยังคงอยู่
  
                                                                                                            ราเมศร์  เรืองอยู่

วันเสาร์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2555


 
กิจกรรมที่มีความหมายกับใครบางคน
              นักกิจกรรมบำบัดจะรู้จักและเข้าใจดีว่ากิจกรรมที่มีความหมายนั้นมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมที่แสดงออกของแต่ละคนเพียงใด  เพราะกิจกรรมที่มีความหมายหรือที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Meaningful activities นั้น  แต่ละคนจะมีเหตุผลส่วนตัวอยู่ในจิตใจของตนเองว่าทำไมจึงชอบและสนใจในกิจกรรมนั้น ๆ     บางครั้งกิจกรรมที่คน ๆ หนึ่งชอบนักชอบหนาแต่กลับเป็นกิจกรรมที่น่าเบื่อของอีกคนหนึ่ง
             สำหรับตัวผมเองเป็นนักกิจกรรมบำบัด  ในการทำงานกับผู้ป่วยก็ต้องพยายามที่จะค้นหาว่ากิจกรรมใดที่เป็นกิจกรรมที่มีความหมายของผู้ป่วยแต่ละราย  เมื่อหาเจอแล้วบางครั้งรู้สึกยากเหลือเกินที่จะทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาทำกิจกรรมที่มีความหมายสำหรับเขาได้อีกครั้งด้วยข้อจำกัดทางร่างกาย เช่น เกิดทุพลภาพในระดับที่รุนแรงเกินกว่าที่จะลุกขึ้นมาทำอะไร ๆ ได้
           การเข้าใจเรื่องกิจกรรมที่มีความหมาย  มันก็ทำให้เราสามารถทำงานหรืออยู่ร่วมกับคนอื่นได้ดีขึ้น   เนื่องจากเราเข้าใจว่าคนเราแต่ละคนจะชอบทำกิจกรรมไม่เหมือนกัน   เพราะฉะนั้นหากเราใส่ใจคนที่อยู่รอบ ๆ ตัวเรา  ดูว่าเขาชอบและไม่ชอบทำอะไร  มันก็จะทำให้เราสามารถเลือกที่จะมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีได้โดยผ่านทางกิจกรรมที่เขาชอบและเราก็ชอบเหมือนกัน   ในขณะเดียวกันถ้าเรารู้จักเปิดกว้างยอมรับว่าคนอื่น ๆ ไม่ได้ชอบทำกิจกรรมเหมือนที่เราชอบทำ  เราก็จะไม่ไปคาดหวังในตัวเขาเหล่านั้นว่าจะต้องมาทำอย่างที่เราทำ  ความคับข้องใจก็จะไม่เกิดขึ้นกับเราด้วย   ขณะเดียวกันหากเราบอกให้คนอื่นเข้าใจเราได้  ตัวเราก็จะเป็นอิสระจากการคาดหวังของตนอื่นด้วยเช่นกัน
          เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาผมมีโอกาสพาแม่และครอบครัวไปเดินเที่ยวที่ตลาดบางน้ำผึ้ง  เราไปกันทั้งหมดแปดคน  มากกว่าครึ่งหนึ่งชอบกิจกรรมนี้   แต่ผมเองกิจกรรมเดินตลาดแบบนี้ไม่ได้ทำให้ผมรู้สึกผ่อนคลายเลย  ประมาณว่าเดินเล่นได้แต่ไม่ไปก็ไม่รู้สึกเดือดร้อน  อย่างที่ตลาดอัมพาวาก็รู้สึกว่าขอกลับมารอคนอื่นที่รถดีกว่าถ้าทำได้   แต่ถ้าหากถามถึงเหตุผลผมก็ไม่สามารถตอบได้อย่างชัดเจนได้เหมือนกันว่าเพราะอะไร  ผมไม่ชอบที่ที่มีคนเยอะ ๆ แต่ก็ไม่ใช่แค่เหตุผลนี้   สำหรับแม่ของผม   ผมก็ไม่แน่ใจว่ากิจกรรมเดินเล่นที่ตลาดบางน้ำผึ้งเป็นกิจกรรมที่มีความหมายสำหรับท่านหรือไม่   เราพาท่านนั่งรถเข็นแล้วเข็นผ่านคนที่เดินสวนกันขวักไขว่ไปมา  ท่านก็ถามตลอดทางว่าจะไปถึงไหน  ขณะเดียวกันก็หันซ้ายหันขวาพูดถึงของที่ขายสองฝั่งอย่างสนใจ
           สรุปว่าสุดท้ายเราก็ต้องมาจัดสมดุลของตัวเราเองอีกนั่นแหละในเรื่องของการทำกิจกรรมที่มีความหมายสำหรับเรา  เราคงเลือกไม่ได้ที่จะทำเฉพาะกิจกรรมที่มีความหมายของเราเท่านั้น  เราคงต้องทำกิจกรรมที่มีความหมายของคนอื่นบ้างเพื่อสร้างสมดุลของการใช้ชีวิตร่วมกัน
                                                                                       ราเมศร์  เรืองอยู่

วันอังคารที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2555

สมดุลชีวิต
 
        ขณะที่ผมเขียนบันทึกเรื่องนี้  ผมเฝ้าคุณแม่ที่กำลังนอนป่วยอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์  คุณแม่ท้องเสีย  ติดเชื้อ  ความดันต่ำจนใกล้ภาวะช๊อค  และการที่ต้องมานั่งเฝ้าคุณแม่ทุกวันนี่เองทำให้ตนเองได้นึกถึงเรื่องของสมดุลชีวิต
         ขณะที่นั่งพักอยู่ที่ระเบียงด้านหลังของตึกหลิ่มซีลั่น  ท่ามกลางบรรยากาศของท้องฟ้าอึมครึม  ฝนตกปรอย ๆ สลับกับตกหนาเม็ด เพราะเป็นช่วงวันเวลาที่มีพายุพัดผ่านเข้าภาคกลางพอดี ( วันที่ ๑๔ – ๑๘ กันยายน  ๒๕๕๕ )  รอบ ๆ บริเวณดูชุ่มฉ่ำแต่ไม่ปลอดโปร่ง  ต้นไม้เขียวสดชื่นใบเปียกโชกมีหยดน้ำเกาะและหยดที่ปลายใบ  บางต้นออกดอกสีสดใส  กระรอกน้อยสามสี่ตัวกระโดดหากินไปมาบนยอดไม้สูง  ทำให้บรรยากาศในโรงพยาบาล  สงบ  เป็นธรรมชาติ   และช่วยให้จิตใจของเราผ่อนคลายจากความวิตกกังวลต่าง ๆ ในความเจ็บป่วยของคนไข้ได้บ้างในบางขณะ  มันทำให้ผมเห็นความสำคัญของธรรมชาติได้ขึ้นมาทันทีว่า  ธรรมชาติช่วยรักษาภาวะสมดุลของความรู้สึกและจิตใจได้  ความฟุ้งซ่านต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น  ถูกดึงกลับมาให้สงบนิ่งได้ด้วยธรรมชาติเหล่านี้  มันมาช่วยถ่วงดุลกันได้จริง ๆ
        นี่เป็นครั้งที่สองในรอบหนึ่งเดือนที่คุณแม่ต้องมานอนที่โรงพยาบาล   คุณแม่ผมมานอนที่โรงพยาบาลครั้งแรกที่ตึกสามัคคีพยาบารได้ประมาณหนึ่งสัปดาห์ด้วยอาการข้ออักเสบและความดันโลหิตต่ำ รักษาจนอาการดีขึ้นคุณหมอก็ให้กลับบ้าน  แต่กลับไปได้แค่สี่วันก็ต้องกลับมาอีกในครั้งนี้ด้วยอาการท้องเสีย และความดันต่ำ   ทำให้ผมต้องเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตในสองช่วงเวลาที่คุณแม่นอนโรงพยาบาลนี้ไปจากเดิม  ปกติหลังเลิกงานผมต้องไปรับลูกที่โรงเรียนแล้วกลับไปทำงานบ้านและสอนการบ้านลูก  แต่ช่วงนี้ผมรับลูกแล้วขับรถไปที่โรงพยาบาลจุฬาต่อ  ระยะทางประมาณสามสิบกิโลเมตร  ลูกก็ทำการบ้านที่โรงพยาบาล  กว่าจะกลับมาถึงบ้านก็ประมาณสามสี่ทุ่มทุกวัน   หากเปรียบเทียบกับเวลาปกติจะเห็นว่าสมดุลชีวิตของผมเสียไป  สมดุลชีวิตของลูกผมก็เสียไป  และของคนอื่น ๆ ในครอบครัว เช่น ภรรยา  พี่สาว  น้องสาว  ก็เสียไป  ทำให้คิดได้ว่าวิธีปรับสมดุลที่ดีที่สุดคือการปรับตัวปรับใจให้ยอมรับและอยู่กับปัจจุบัน  การอยู่กับความเคยชินในอดีตมันจะทำให้ใจของเราฟุ้งซ่านและรู้สึกเสียศูนย์  เราจึงควรกลับมารักษาสมดุลหรือประคองใจให้นิ่ง  เปรียบเหมือนเรานั่งอยู่ในเรือที่ลอยไปตามกระแสน้ำ  เรือก็เหมือนใจของเรา  กระแสน้ำคือสิ่งที่มากระทบวิถีปกติของชีวิตให้เสียสมดุลหรือเปลี่ยนไปจากเดิม  เราคงไปกำหนดความเชี่ยวกรากของกระแสน้ำและทิศทางของมันไม่ได้  เพราะมันเป็นเรื่องของธรรมชาติ  แต่เราสามารถประคับประคองเรือของเราไม่ให้ล่มได้ นั่นคือการพยายามมุ่งรักษาสมดุลของเรือไม่ให้เอนเอียงจนเกินไป  ต้องมีการขยับโยกซ้ายย้ายขวา  จนถึงการโยนสิ่งที่จะทำให้เรือหนักเกินไปทิ้งลงน้ำไป   นั่นคือการรู้เท่าทันจิตใจตนเอง ณ ปัจจุบันว่าเอียงหนักไปทางใด  กำลังแบกทุกข์อะไรอยู่  อะไรที่ปล่อยวางได้ก็ตัดใจ  ไม่ต้องเก็บมาไว้ทุกเรื่องจนหนักใจเกินไป  เมื่อตั้งสติ  เห็นจิตใจตนเองได้  ก็จะประคองเรือชีวิตได้ต่อไปจนตลอดรอดฝั่ง
 
 
                                                                                                               ราเมศร์  เรืองอยู่
                                                                                                               กันยายน ๒๕๕๕
                                                                                                                                              

วันศุกร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2555


อุปกรณ์ช่วยในการยกตัว

      เป็นอุปกรณ์สำหรับให้ผู้ที่เป็นอัมพาตครึ่งท่อนล่างใช้ในการยกตัวให้ลอยจากพื้น  เพื่อลดแรงกดที่บริเวณก้นกบในขณะนั่ง  เพื่อลดแรงเฉือนในขณะเคลื่อนตัวไปด้านข้าง  และเพื่อใช้ออกกำลังกล้ามเนื้อต้นแขนในการเหยียดแขนและกล้ามเนื้อที่ใช้ในการยันลำตัว

       อุปกรณ์นี้เราสามารถประดิษฐ์ขึ้นได้เองจากท่อน้ำพีวีซี  ซึ่งมีความแข็งแรง ทนทาน  สามารถรับน้ำหนักได้ดี  หากเก็บรักษาในที่ร่มจะทนนานหลายปี  สามารถจัดหามาได้ง่าย  และราคาไม่แพง

อุปกรณ์ในการทำ

1.ท่อพีวีซีขนาด  1 นิ้ว   ตัดเป็นท่อนยาวขนาดต่าง ๆ ดังนี้

  - ยาว   45   ซม.    จำนวน   1  ท่อน        (A)

  - ยาว   15   ซม.    จำนวน   2  ท่อน        (B)

  - ยาว   12  ซม.    จำนวน   2  ท่อน        (C)

  - ยาว    20  ซม.    จำนวน   2  ท่อน       (D)

  - ข้องอ    จำนวน    6   อัน                      (E)

   -ฝาครอบ  จำนวน   2  อัน                     (F)

  2.  กาวทาท่อน้ำ
 
วิธีทำ

1.       ตัดท่อน้ำตามจำนวนและขนาดที่กำหนด

2.       ต่อประกอบตามขั้นตอนดังนี้

-           ใช้ข้องอสวมในท่อท่อน  A  ทั้งสองด้าน ปรับให้ข้องอตรงแนวเดียวกัน (ทากาวด้านนอกของท่อน้ำและด้านในของข้องอ)


-           ประกอบส่วนมือจับ โดยสวมข้องอที่ท่อท่อน  D ทั้งสองด้าน ปรับให้ข้องอตรงแนวเดียวกัน  (ทากาวด้านนอกของท่อน้ำและด้านในของข้องอ)

-           สวมท่อท่อน   B  และ  C  ที่  ที่ข้องอของท่อท่อน D ทั้งสองด้าน    (ทากาวด้านนอกของท่อน้ำและด้านในของข้องอ)

-           ประกอบส่วนมือจับโดยสวมท่อท่อน  C  เข้ากับข้องอของท่อน  A ทั้งสองด้าน  ปรับให้ได้มุม 90  องศากับแนวท่อท่อน  A (ทากาวด้านนอกของท่อน้ำและด้านในของข้องอ)

-           สวมฝาครอบที่ปลายท่อท่อน    B 


หมายเหตุ  - ท่านอาจลองประกอบโดยยังไม่ทากาวก่อน เพื่อสามารถปรับขนาดความสูง  ความกว้าง  ให้เหมาะสมกับขนาดรูปร่างของผู้ใช้  เมื่อได้ขนาดที่พอดีแล้วจึงประกอบใหม่ด้วยกาวยึดติด

   วิธีทำแป้งสำหรับฝึกการทำงานของมือ

            ในการฝึกการทำงานของมือ   นักกิจกรรมบำบัดมักจะใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า putty  หรือดินน้ำมันชนิดพิเศษ ที่มีความเหนียวหนืดคงที่ ไม่สามารถปั้นขึ้นรูปได้    โดยการนำมาให้ผู้ป่วยนวดเพื่อเพิ่มกำลังของนิ้วมือ  กดนวดเพื่อลดบวมของมือ  และเพิ่มช่วงการเคลื่อนไหวของมุมข้อนิ้วมือ  ขึ้นกับวัตถุประสงค์ในการใช้   ซึ่งตัว putty ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ  และราคาแพง    แต่เราสามารถทำแป้งสำหรับใช้เองได้  อาจจะขาดคุณสมบัติบางประการ เช่น  ความหนืดอาจจะด้อยกว่า  แต่ก็สามารถประยุกต์ใช้ได้  หรือที่รู้จักกันว่า “แป้งโดว์”

วิธีทำแป้งโดว์

           ส่วนผสมของการทำแป้งโดว์ ประกอบด้วย
1. แป้งสาลี 3 ถ้วยตวง
2. น้ำต้มสุก 2.5 ถ้วยตวง
3. เกลือป่น 1 ถ้วยตวง
4. ครึมออฟทาร์ทาร์ 1/4 ถ้วยตวง
5. น้ำมันพืช 2 ช้อนโต๊ะ
6. สีและกลิ่นผสมอาหาร (ที่ได้รับ อย.)
 
ขั้นตอนการทำ
1.      นำน้ำต้มสุกที่ยังอุ่นอยู่ หรืออุณหภูมิห้อง ใส่ภาชนะก้นลึก เทเกลือที่ตวงไว้ลงในภาชนะ คนจนเกลือละลาย แล้วพักไว้
2.      นำแป้งที่ตวงไว้แล้ว มาร่อน ตอนร่อนแป้งให้ใส่แป้งสาลีและครีมออฟทาร์ทาร์ลงไปร่อนพร้อมกันเลย
3.      เมื่อได้แป้งที่ร่อนแล้ว ก็ค่อยๆ เทน้ำเกลือลงไปในแป้งที่ร่อนแล้ว ตามด้วยน้ำมัน กลิ่น และสี คนให้เข้ากัน จนไม่มีเม็ดสาคู
4.      จากนั้นก็นำแป้งที่คนจะเข้ากันแล้วขึ้นตั้งเตา ถ้ามือใหม่เปิดไฟอ่อนๆ ก่อน กวนจนแป้งโดว์สุกทั่ว ปิดแก๊ส พักแป้งโดว์จนอุ่น แล้วนวดให้เข้ากัน
5.      ก่อนเก็บต้องแน่ใจว่าแป้งโดว์คลายความร้อนออกจนหมดแล้ว เย็นตัวดี จะใช้วิธีเก็บใส่กระปุกหรือจะแรปพลาสติกก็ได้   หรือจะเก็บในภาชนะที่ปิดสนิท เพื่อยืดอายุการใช้งานของแป้งโดว์ก็ได้
หากไม่มีแป้งสาลี ก็สามารถทำแป้งโดว์ได้
โดยการทำแป้งโดว์สูตรแป้งข้าวโพด  และแป้งข้าวเจ้าแทน   โดยใช้อัตราส่วน อย่างละครึ่งของสูตรแป้งสาลี
        
1. แป้งข้าวโพด 1.5 ถ้วยตวง
2. แป้งข้าวเจ้า 1.5 ถ้วยตวง
ส่วนผสมอื่นๆ ตามปกติ  วิธีทำก็เหมือนสูตรแป้งสาลี เพียงแต่เวลาผสมแป้งและน้ำเกลือเข้าด้วยกัน จะดูเบามือ ดูเหลวกว่าปกติ  เพราะแป้งข้าวโพดจะมีน้ำหนักเบา รอสักพักแป้งจะเริ่มข้นขึ้น เนื้อแป้งที่ได้ก็จะนิ่ม นุ่ม เหมือนสูตรปรกติ
 

วันเสาร์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2555


โรงเรียนชีวิต....กับโอกาสในการเรียนรู้

                                                                                                    โดย...ราเมศร์  เรืองอยู่






                  เมื่อวันที่ 21 – 22 เมษายน 2555  ในช่วงสาย ๆ ของวันที่ร้อนระอุ  ข้าพเจ้าพาครอบครัวประกอบด้วยภรรยาและลูกสาววัยเก้าขวบย่างกรายเข้าไปสัมผัสชีวิตในอีกรูปแบบหนึ่งที่ข้าพเจ้าไม่คุ้นชินตามคำแนะนำของบุคคลท่านหนึ่งซึ่งข้าพเจ้าขออนุญาตเรียกท่านว่า อาจารย์มณีวรรณ  กมลพัฒนะ    ที่ ๆ ข้าพเจ้าไปก็คือ มูร่าห์ฟาร์ม  เป็นฟาร์มควายนมแห่งแรกของไทย  ซึ่งอยู่ที่อำเภอแปลงยาว จังหวัดฉะเชิงเทรา  และในการเดินทางครั้งนี้ข้าพเจ้าไปฟร้อมกับเพื่อร่วมงานอีกสี่คน   ข้าพเจ้าทราบแต่เพียงว่าอาจารย์มณีวรรณต้องการให้ไปดูเกี่ยวกับโรงเรียนชีวิต  แต่ก็ไม่ทราบว่าโรงเรียนมันเป็นอย่างไรและยินดีที่จะไปด้วยเหตุผลว่าเป็นโอกาสที่จะได้เจอและพูดคุยกับอาจารย์หลังจากที่ไม่ได้เจอกับท่านนานประมาณสองปีแล้ว  และจะได้พาครอบครัวไปเที่ยวดูพาร์มความนม   โดยเฉพาะลูกสาวที่อยากให้ได้ไปรับประสบการณ์ที่แปลกใหม่  และสุดท้ายที่ต้องได้แน่

                                    
            หลังจากทานอาหารกลางวันที่แม่บ้านที่ฟาร์มปรุงให้ใหม่ ๆ ร้อน ๆ แล้ว   ข้าพเจ้าก็มีโอกาสเดินสำรวจรอบ ๆ ฟาร์ม  รวมถึงลงไปสัมผัสเจ้าควายที่กระจายอยู่ตามคอกต่าง ๆ ซึ่งไม่ทราบว่าแบ่งอย่างไร  เพราะเป็นการเดินดูตามอัธยาศัยไม่มีไกด์แนะนำ  ด้วยสภาพอากาศที่ร้อนมากทำให้เดินดูอยู่ได้ไม่นานก็กลับมานั่งในอาคารและสนทนากับอาจารย์มณีวรรณ  ซึ่งวันนี้ท่านมากับน้องชายคืออาจารย์หมอไพโรจน์  และลูกชายของท่านคือคุณกมล  อาจารย์ก็พูดให้ฟังว่าอาจารย์จะทำโรงเรียนชีวิตและมีเอกสารให้เรา  ซึ่งมีหลัก และสูตรในการเรียน  สรุปได้ว่าเป็นโรงเรียนที่หากเราปฏิบัติตามหลักและสูตรนี้แล้วสุดท้ายจะเกิดมุมมองของการดำเนินชีวิตที่มุ่งเน้นเรื่องของความสมดุลที่จะอยู่กับธรรมชาติอย่างเกื้อกูลซึ่งกันและกัน  การใช้ประโยชน์สูงสุดจากธรรมชาติโดยทำลายธรรมชาติน้อยที่สุด  และใช้ปัญญาที่เกิดจากการฝึกปฏิบัติผ่านกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน  สุดท้ายเราจะสามารถผลักดันวิถีปฏิบัติผ่านช่องทางของแต่ละสาขาอาชีพไปสู่บุคคลอื่น ๆที่มีความพร้อมตามบริบทของแต่ละคน

             อาจารย์ได้กล่าวถึงเรื่องสภาวะของโลกที่เปลี่ยนแปลงว่าเราจะรับมือกับมันอย่างไร   การเมืองที่ผันผวนระดับโลกและระดับประเทศที่มีผลประโยชน์แอบแฝงหรือความไม่รู้จักพอเป็นพื้นฐาน    สุดท้ายก็จะส่งผลกระทบมาที่ตัวเราอย่างเลี่ยงไม่ได้  ผ่านทุก ๆ ทาง  ทั้งธรรมชาติ ทางสังคม และเศรษฐกิจ    อาจารย์พูดถึงวิถีการกินที่มุ่งเน้นเรื่องการรักษาความบกพร่องของการทำงานของเซลร่างกาย  เนืองจากอาจารย์เป็นโรคหลอดเลือดสมองทำให้มีอาการเป็นอัมพาตครึ่งซีกซ้ายของร่างกาย  ด้วยความที่เป็นนักวิทยาศาสตร์และเชี่ยวชาญเรื่องเคมี   อาจารย์จึงเลือกวิธีรักษาด้วยการรับประทานอาหารที่เป็นคุณกับความต้องการของร่างกายจริง ๆ ภายใต้การกำกับดูแลของนายแพทย์สุชาติ  ซึ่งอาจารย์ต้องไปปรับสมดุลร่างกายทุกสัปดาห์  และอาจารย์ก็พิสูจน์ด้วยตนเองแล้วเห็นว่าระบบการทำงานของร่างกายดีขึ้นจริง  เช่น ระดับความดันเลือดเป็นปกติโดยที่ไม่ต้องใช้ยาปรับความดัน     และปัจจุบันอาจารย์ก็ได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมะอย่างลึกซึ่งและทำกิจกรรมที่ส่งเสริมพุทธศาสนา  และดูเหมือนว่าอาจารย์พบสิ่งที่ยิ่งใหญ่และอยากให้มันเกิดประโยชน์กับคนที่ด้อยปัญญาเฉกเช่นข้าพเจ้า  กลุ่มของเราก็ได้มีการสนทนากันในประเด็นที่เกี่ยวกับธรรมะ  เช่นคุณรัญจวน  ผู้ซึ่งเป็นเจ้าของฟาร์มที่ยึดถือปฏิบัติพุทธศาสนาแบบมหายานได้พูดเรืองแปดโลกที่มีตั้งแต่นรกถึงสวรรค์ ซึ่งข้าพเจ้าจำไม่ค่อยได้  ทราบแต่ว่าเรายังอยู่ในโลกมนุษย์ที่มีรัดโลภโกรธหลง  แต่สำหรับตัวข้าพเจ้าเองคิดแค่เพียงว่าในการดำเนินชีวิตนั้นขอให้รู้ตัวตลอดเวลาว่ากำลังรักโลภโกรธหรือหลง  เพราะถ้าเรามีสติมันจะทำให้เรารู้ว่าเราควรจะทำอย่างไร   อาจารย์ถามข้าพเจ้าว่าเห็นอะไรจากการเดินดูธรรมชาติรอบ ๆ ฟาร์ม  ข้าพเจ้าบอกว่าเห็นความลำบากท่ามกลางความร้อนทั้งของตัวข้าพเจ้าและของควาย    และถามว่าขาพเจ้าว่าจัดสมดุลของชีวิตอย่างไร  ปัจจุบันมีอะไรที่ทำให้ข้าพเจ้าเสียสมดุลบ้าง  แต่ครั้งนี้ข้าพเจ้าไม่ได้ตอบคำถามของท่านตรง ๆ เนื่องด้วยบรรยากาศของการพูดคุยกันหลาย ๆ คนทำให้ประเด็นการตอบคำถามของข้าพเจ้าตกไปอย่างเนียน  แต่ข้าพเจ้าคิดว่าอาจารย์ทราบคำตอบเพราะเราเคยคุยกันเรื่องนี้เมื่อนานมาแล้ว  
  

         ตอนเย็นเราก็มีโอกาสได้ไปเดินเล่นชมฟาร์มกันอีกครั้งในบรรยากาศแบบแดดร่มลมตก  แล้วต่อด้วยอาหารเย็นมื้อพิเศษ  เพราะเป็นอาหารในรูปแบบที่เพื่อสุขภาพจริง ๆ  ประกอบด้วย สเต็กเนื้อ ซุปเอ็น  พิซซ่า  โอเมกา 3 จากปลาสวาย  และตบท้ายด้วยเค๊กชอคโกแลตหวานน้อยแสนอร่อยพร้อมกับร้องเพลงแฮบปี้เบิร์ดเดย์ให้อาจารย์หมอไพโรจน์ คุณพิมล และคุณต๋อม  แคร์กีฟเวอร์ของอาจารย์  หลังจากนั้นเราสนทนากันเรื่องอาหารการกินถึงประมาณสี่ทุ่มกว่าก็แยกย้ายกันไปพักผ่อน

        ข้าพเจ้าได้ยินเสียงไก่ขันตั้งแต่ตีห้ากว่า ๆ และคิดว่าคงนอนต่อไม่หลับจึงเตรียมตัวลงมาเดินเล่นรับอรุณและสูตรอากาศสดชื่นพร้อมกับกาแฟหอมกรุ่นสักแก้ว  แล้วทุกอย่างก็เป็นไปตามนั้น  และเช้านี้เราได้รับเกียรติจากเจ้าของฟาร์มคือคุณรัญจวนได้พาเรานั้งรถโฟร์วีลขับตะเวณดูรอบ ๆ ฟาร์มบนเนื้อที่กว่าสี่ร้อยไร่  ซึ่งก็เป็นที่ตื่นตาตื่นใจเป็นอย่างมาก  ได้เห็นการพยายามบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดของเจ้าของฟาร์ม  เช่นการปลูกพืชหลากหลายชนิดเพื่อเป็นอาหารของเจ้าควายและได้ทดลองทดลองพันธุ์ไม้  และข้าพเจ้าก็เกิดความคิดว่าถ้าได้มีการพัฒนาในเชิงท่องเที่ยวก็น่าจะทำได้โดยจัดให้เป็นสถานีต่าง ๆ เช่น  สถานีรีดนม  สถานีทำผลิตภัณฑ์จากนม  สถานีผลิตอาหารควาย เป็นต้น โดยพาหนะสำคัญที่จะใช้พานักท่องเที่ยวชมสถานีต่าง ๆ คือเกวียนที่ใช้ควายลากจูงเท่านั้น

          เช้าวันที่สองนี้เราก็ได้รับประทานอาหารเชิงเพื่อสุขภาพอีก  ประกอบด้วยนมวัว น้ำเวย์โปรตีนจากนม  ไข่ลวก และชีช  ตามด้วยข้าวมันไก่และเครื่องใน  เมนูทั้งหมดนี้เน้นที่คุณค่าทางสารอาหาร  และทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกได้ถึงความอร่อยของชีชสดๆ และไข่ลวกที่อร่อยแบบธรรมชาติไม่ต้องมีการปรุงรสใด ๆ  เช้านี้ข้าพเจ้าเห็นเดินออกกำลังกายแต่ในท่วงท่าที่ดูสงบเย็นแบบเดินจงกรม  หลังอาหารเข้าเรามีการสนทนาเพื่อสรุป    ประเด็นหลักก็คือชีวิตของคนเราสามารถเปรียบเทียบได้กับบัวว่าจะเป็นบัวอยู่ใต้ตรม  อยู่ใต้น้ำ  อยู่ปริ่มน้ำ  หรืออยู่พ้นน้ำ  ขึ้นอยู่กับว่าเราจะประพฤติตนอย่างไร  โง่เง่าเต่าตุ่น  หรือใช้สติปัญญา  และอาจารย์ได้ตั้งคำถามให้ช่วยกันหาคำตอบว่าทำไมดอกบัวจึงเป็นสัญลักษณ์ของพุทธศาสนา   สุดท้ายก็ได้ข้อคำตอบว่าเพราะดอกบัวแตกต้นมาจากรากเหง่า  เติบโตผ่านโคลนตรม  พ้นจากปากเต่า กุ้ง หอย ปู ปลา  ชูขึ้นมาบานอยู่เหนือน้ำ  มีกลีบ เกสร และเมล็ด  แล้วก็เหี่ยวแห้งไป  เหมือนการนิพพาน    ข้าพเจ้ามีความคิดเห็นเพิ่มเติมว่าการแพร่ขยายของไหลบัวเปรียบได้ดับการเผยแพร่ศาสนา  จะต้องมีภาวะหรือสภาพที่เหมาะสมจึงจะเกิดเป็นต้นและดอกได้   แต่ข้าพเจ้าคิดว่าบัวก็คือบัว  บัวมีธรรมชาติของบัวอย่าไปพยายามทำบัวให้เป็นอะไร  และก็อย่าพยายามทำอะไรให้เป็นบัว    พอจบเรื่องบัวก็เป็นเวลาสาย ๆ เราก็แยกย้ายกันไปเตรียมตัวเดินทางกลับ  อาจารย์ก็แยกไปถ่ายรูปกับควายโคลนนิ่งตัวแรก  และกลุ่มเราก็ได้ถ่ายรูปร่วมกันกับอาจารย์

          หนึ่งเดือนต่อมาข้าพเจ้าก็ยังเป็นนักเรียนที่ไม่ตั้งใจเรียนเท่าไร  เพราะไม่ค่อยได้ทำภาคปฏิบัติคือเรียนธัมม์  แต่ก็พยายามคิดตามว่าเราจะมีชีวิตอย่างไร

         2  มิถุนายน  2555   ข้าพเจ้าตื่นมาตอนเช้ามืดประมาณตีห้า  พอลืมตาก็เห็นว่าอ๋อนี่ไม่ใช่บ้านเราแต่เป็นที่บ้านของพ่อภรรยาหรือพ่อตา  หูก็แว่วเสียงไก่ขัน  เสียงเพลงเก่า ๆ เสียงรถ  เสียงวิทยุ  เสียงคนประกอบอาหาร  ทำให้นอนต่อไม่หลับ  ก็เลยนอนวิปัสสนาด้วยการติดตามลมหายใจตัวเอง   ใจก็ลอยไปถึงเรื่องโรงเรียนชีวิตของอาจารย์มณีวรรณ  และทบทวนตัวเองดูว่าหลังจากไดเจอกับอาจารย์ที่มูร่าห์ฟาร์มก็ผ่านไปประมาณเดือนครึ่งเรามองเห็นชีวิตเป็นอย่างไร  ก็ได้เห็นว่าตนเองนึกถึงเรื่องการกินอยู่อย่างพอดีและเป็นประโยชน์สูงสุดมากขึ้น  เวลาทานอาหารก็จะคิดว่ามันเป็นประโยชน์กับเราแค่ไหน  เรากินมันเพื่ออะไร  และได้เล่าให้คนอื่น ๆ ฟังว่าเราได้รับประสบการณ์อะไรมาบ้างเกี่ยวกับการเลือกอาหารรับประทาน  ก่อนหน้านี้ข้าพเจ้าก็เลือกปฏิบัติตามแนวทางที่เรียกว่าแมคโครไบโอติคอยู่แล้ว  คือทานอาหารจากธรรมชาติอย่างธรรมชาติ  แต่ก็สามารถทำได้ระดับหนึ่งเท่านั้นเนื่องจากมีข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น  ไม่สามารถปลูกพืชผัก  และเลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ไว้ทานเองได้  ที่ทำได้คือพยายามหลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป  และเลิกใช้เตาไมโครเวฟประกอบอาหาร  เพื่อทำให้กระบวนการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอาหารของเซลร่างกายเป็นไปตามธรรมชาติมากที่สุดและไม่เกิดพิษ  แล้วสุดท้ายสุขภาพของเราก็จะแข็งแรงแบบยั่งยืนได้เองจากภายใน   อีกเรื่องหนึ่งเรื่องของอารมณ์ที่นิ่งขึ้น  ได้แนวมาจากอาจารย์ไพโรจน์เหมือนกันว่าคนเราสามารถปฏิบัติได้ตลอดเวลาด้วยการกำหนดลมหายใจ  แต่ข้าพเจ้าไม่ได้ปฏิบัติเหมือนกับอาจารย์ไพโรจน์ที่มีการกำหนดระยะเวลาในการหายใจให้ยาว  ข้าพเจ้าทำได้เพียงการเฝ้าติดตามการหายใจของตนเอง   ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมาข้าพเจ้ามีประเด็นทางการปฏิบัติหรือเกี่ยวกับศาสนาพูดคุยแลกเปลี่ยนกับเพื่อนร่วมงานระหว่างมื้อกลางวันอยู่บ่อย ๆ   ได้ติดตามรายการ “พื้นที่ชีวิต”  ของวรรณสิงห์  ประเสริฐกุล  ซึ่งเป็นรายการเกี่ยวกับปรัชญาชีวิต  โดยที่ข้าพเจ้ารู้จักรายการนี้จากอาจารย์มณีวรรณเมื่อสองสามปีก่อน  และก็ได้อ่านหนังสือจากกัลยาณมิตร  อย่างเช่น เรื่อง  “๑ พระอาจารย์ ๙มารร้าย  ปิดอบายใน ๑ พรรษา”  ของพระอาจารย์  นวลจันทร์  กิตติปัญโญ    และข้าพเจ้าได้ฟังบรรยายเรื่อง “จะพัฒนาตนเองอย่างไร ให้มีความสุขในการทำงาน”  โดยนายแพทย์ไพบูลย์  ศรีแก้ว  ซึ่งก็เน้นที่การใช้ปัญญาในการคิดและปรับใจให้รู้ความจริง     สิ่งเหล่านี้ช่วยกระตุ้นให้ข้าพเจ้าหันมามองจิตใจตนเองมากขึ้น  และเริ่มจะเกิดแนวคิดว่าข้าพเจ้าน่าจะทำให้ชีวิตของข้าพเจ้าให้เกิดความสมดุลได้ด้วยการปรับที่ใจ  ซึ่งมันจะส่งผลต่อพฤติกรรมและการแสดงออกของข้าพเจ้าต่อไป  แล้วสุดท้ายก็น่าจะส่งผลต่อทุกสิ่งที่แวดล้อมตัวข้าพเจ้า    และน่าจะเป็นทางที่ดี  แต่สุดท้ายข้าพเจ้าก็ยังคงไม่เข้าใจว่าสิ่งที่ข้าพเจ้าทำนี้เกี่ยวข้องกับโรงเรียนชีวิตหรือไม่

     วันที่ 1 สิงหาคม  2555 ผมเตรียมตัวเดินทางไปที่นครสวรรค์จังหวัดบ้านเกิดเพราะเป็นวันหยุดยาว  วันพฤหัสบดีเป็นวันอาสาฬหบูชาวันศุกร์ก็เป็นวันเข้าพรรษาต่อด้วยวันหยุดเสาร์อาทิตย์รวมสี่วัน  ขณะเวลาเดียวกันก็กำลังแข่งขันกีฬาโอลิมปิกลอนดอนเกมส์กันอย่างเข้มข้น  ผมเกิดคำถามในใจว่ากีฬาแห่งมวลมนุษยชาตินี้เราจะชิงดีชิงเด่นกันไปเพื่ออะไร  ทำไมต้องหาคนที่เร็วที่สุด คนที่แข็งแรงที่สุด  คนที่มีทักษะทางการเคลื่อนไหวดีที่สุด  ถ้ามองแค่ตัวคนผู้แข่งขันและทีมงานนั้น ๆ มันเกินสมดุลเกิดแนวคิดสุดโต่งหรือไม่  มันปลูกฝังว่าถ้าจะทำอะไรต้องทำให้ดีที่สุดหรือไม่  มันคงจะดีถ้าการกระทำนั้นมันคือทำดีสีขาว  แต่อีกมุมหนึ่งของการต้องดีสุดโต่ง  มันก็คือการเร่งเผาผลาญโลกนั่นเอง  เพราะถ้าเราต้องใช้แต่ของดี ๆ แสวงหาแต่สิ่งที่เราคิดว่าดี   ไม่ดีโยนทิ้ง  หรือไม่ดีพอก็ใช้ไม่ได้  อย่างนี้โลกก็แย่แน่ ๆ ถ้าคนส่วนใหญ่บนโลกมีแนวคิดนี้ในการดำเนินชีวิต  แล้วความสมดุลมันอยู่ตรงไหน  ข้อนี้ผมยังคิดไม่ออก  ซึ่งก็คงจะสอดคล้องกับแนวคิดของอาจารย์มณีวรรณว่าเราจะกินอาหารอย่างไรให้มันมีอาหารเปี่ยมคุณภาพพอเลี้ยงคนทั้งโลก  เราคงต้องมองอีกมุมหนึ่งของความเป็นที่สุดนั่นคือทำให้มีคุณภาพดีที่สุด

                                           *******************************************************************************************