วันอังคารที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2555

สมดุลชีวิต
 
        ขณะที่ผมเขียนบันทึกเรื่องนี้  ผมเฝ้าคุณแม่ที่กำลังนอนป่วยอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์  คุณแม่ท้องเสีย  ติดเชื้อ  ความดันต่ำจนใกล้ภาวะช๊อค  และการที่ต้องมานั่งเฝ้าคุณแม่ทุกวันนี่เองทำให้ตนเองได้นึกถึงเรื่องของสมดุลชีวิต
         ขณะที่นั่งพักอยู่ที่ระเบียงด้านหลังของตึกหลิ่มซีลั่น  ท่ามกลางบรรยากาศของท้องฟ้าอึมครึม  ฝนตกปรอย ๆ สลับกับตกหนาเม็ด เพราะเป็นช่วงวันเวลาที่มีพายุพัดผ่านเข้าภาคกลางพอดี ( วันที่ ๑๔ – ๑๘ กันยายน  ๒๕๕๕ )  รอบ ๆ บริเวณดูชุ่มฉ่ำแต่ไม่ปลอดโปร่ง  ต้นไม้เขียวสดชื่นใบเปียกโชกมีหยดน้ำเกาะและหยดที่ปลายใบ  บางต้นออกดอกสีสดใส  กระรอกน้อยสามสี่ตัวกระโดดหากินไปมาบนยอดไม้สูง  ทำให้บรรยากาศในโรงพยาบาล  สงบ  เป็นธรรมชาติ   และช่วยให้จิตใจของเราผ่อนคลายจากความวิตกกังวลต่าง ๆ ในความเจ็บป่วยของคนไข้ได้บ้างในบางขณะ  มันทำให้ผมเห็นความสำคัญของธรรมชาติได้ขึ้นมาทันทีว่า  ธรรมชาติช่วยรักษาภาวะสมดุลของความรู้สึกและจิตใจได้  ความฟุ้งซ่านต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น  ถูกดึงกลับมาให้สงบนิ่งได้ด้วยธรรมชาติเหล่านี้  มันมาช่วยถ่วงดุลกันได้จริง ๆ
        นี่เป็นครั้งที่สองในรอบหนึ่งเดือนที่คุณแม่ต้องมานอนที่โรงพยาบาล   คุณแม่ผมมานอนที่โรงพยาบาลครั้งแรกที่ตึกสามัคคีพยาบารได้ประมาณหนึ่งสัปดาห์ด้วยอาการข้ออักเสบและความดันโลหิตต่ำ รักษาจนอาการดีขึ้นคุณหมอก็ให้กลับบ้าน  แต่กลับไปได้แค่สี่วันก็ต้องกลับมาอีกในครั้งนี้ด้วยอาการท้องเสีย และความดันต่ำ   ทำให้ผมต้องเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตในสองช่วงเวลาที่คุณแม่นอนโรงพยาบาลนี้ไปจากเดิม  ปกติหลังเลิกงานผมต้องไปรับลูกที่โรงเรียนแล้วกลับไปทำงานบ้านและสอนการบ้านลูก  แต่ช่วงนี้ผมรับลูกแล้วขับรถไปที่โรงพยาบาลจุฬาต่อ  ระยะทางประมาณสามสิบกิโลเมตร  ลูกก็ทำการบ้านที่โรงพยาบาล  กว่าจะกลับมาถึงบ้านก็ประมาณสามสี่ทุ่มทุกวัน   หากเปรียบเทียบกับเวลาปกติจะเห็นว่าสมดุลชีวิตของผมเสียไป  สมดุลชีวิตของลูกผมก็เสียไป  และของคนอื่น ๆ ในครอบครัว เช่น ภรรยา  พี่สาว  น้องสาว  ก็เสียไป  ทำให้คิดได้ว่าวิธีปรับสมดุลที่ดีที่สุดคือการปรับตัวปรับใจให้ยอมรับและอยู่กับปัจจุบัน  การอยู่กับความเคยชินในอดีตมันจะทำให้ใจของเราฟุ้งซ่านและรู้สึกเสียศูนย์  เราจึงควรกลับมารักษาสมดุลหรือประคองใจให้นิ่ง  เปรียบเหมือนเรานั่งอยู่ในเรือที่ลอยไปตามกระแสน้ำ  เรือก็เหมือนใจของเรา  กระแสน้ำคือสิ่งที่มากระทบวิถีปกติของชีวิตให้เสียสมดุลหรือเปลี่ยนไปจากเดิม  เราคงไปกำหนดความเชี่ยวกรากของกระแสน้ำและทิศทางของมันไม่ได้  เพราะมันเป็นเรื่องของธรรมชาติ  แต่เราสามารถประคับประคองเรือของเราไม่ให้ล่มได้ นั่นคือการพยายามมุ่งรักษาสมดุลของเรือไม่ให้เอนเอียงจนเกินไป  ต้องมีการขยับโยกซ้ายย้ายขวา  จนถึงการโยนสิ่งที่จะทำให้เรือหนักเกินไปทิ้งลงน้ำไป   นั่นคือการรู้เท่าทันจิตใจตนเอง ณ ปัจจุบันว่าเอียงหนักไปทางใด  กำลังแบกทุกข์อะไรอยู่  อะไรที่ปล่อยวางได้ก็ตัดใจ  ไม่ต้องเก็บมาไว้ทุกเรื่องจนหนักใจเกินไป  เมื่อตั้งสติ  เห็นจิตใจตนเองได้  ก็จะประคองเรือชีวิตได้ต่อไปจนตลอดรอดฝั่ง
 
 
                                                                                                               ราเมศร์  เรืองอยู่
                                                                                                               กันยายน ๒๕๕๕
                                                                                                                                              

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น