วันเสาร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ความสมดุลของชีวิตที่เกิดจากแนวพระราชดำริ




         ท่านปราโมทย์ ไม้กลัด      ได้กล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในสมัยที่ท่านเป็นผู้ตรวจราชการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ว่าทรงสนพระราชหฤทัยในการจัดหาน้ำให้แก่เกษตรกรสำหรับใช้ในการทำการเกษตรเสมอมา ด้วยทรงตระหนักว่าสระน้ำในไร่นาเป็นปัจจัยสำคัญในการเพาะปลูก จึงทรงคิดวิธีกักเก็บน้ำเพื่อการเกษตร การจัดการด้านการใช้น้ำกับพื้นที่การเกษตรให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยได้พระราชทานแนวพระราชดำริ "ทฤษฎีใหม่" โดยแบ่งการใช้ประโยชน์พื้นที่ (15 ไร่)เป็น 3 ส่วนดังนี้
  • ส่วนที่หนึ่ง พื้นที่ร้อยละ 30 (ประมาณ 3 ไร่) ให้ขุดเป็นสระกักเก็บน้ำประจำไร่นา ลึก 4 เมตร จุน้ำได้ประมาณ 10,000 ลูกบาศก์เมตร เพื่อไว้กักเก็บน้ำในฤดูฝนไว้ใช้ทำนา รวมทั้งไว้อุปโภคบริโภคและทำการเกษตรผสมผสานได้พอเพียงตลอดปี
  • ส่วนที่สอง พื้นที่ร้อยละ 60 (ประมาณ 10 ไร่) ให้เป็นพื้นที่ทำการเกษตร โดยการทำไร่นาสวนผสม ด้วยการปลูกข้าวร้อยละ 30 ที่เหลือปลูกพืชสวน ไม้ผล ตามความเหมาะสมของสภาพแวดล้อมและตลาดท้องถิ่น
  • ส่วนที่สาม พื้นที่ร้อยละ 10 (ประมาณ 2 ไร่) เป็นบริเวณที่อยู่อาศัย โรงเรือน คอกสัตว์ ทำกองปุ๋ย กองฟาง ลานตาก-นวดพืชผล ฯลฯ
           หลักสำคัญของทฤษฎีใหม่นี้ คือการให้เกษตรกรมีความพอเพียงที่จะเลี้ยงตัวเองได้อย่างพอมีพอกิน ส่วนที่เหลือจึงจะนำออกขายเป็นรายได้ต่อไป และปัจจัยสำคัญในการผลิตของเกษตรกรก็คือ การมีแหล่งน้ำที่จะสามารถหล่อเลี้ยงพื้นที่การเกษตรนั้น ๆ ได้ ทั้งนี้พระองค์ท่านได้ทรงคำนวณสูตรการใช้ประโยชน์พื้นที่ การจัดการแหล่งน้ำที่จะเกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร
          จะเห็นว่าพระองค์ท่านได้ทรงคำนวณแล้วว่านี่คือความสมดุลหรือความพอดีที่จะเกิดขึ้นหากเราปฏิบัติตามแนวทางนี้  ถึงแม้ในความเป็นจริงเราอาจจะไม่สามารถทำได้ตรงตามนั้น เช่น เรามีข้อจำกัดด้านขนาดของพื้นที่ แต่เราก็สามารถยึดหลักการมาได้โดยจัดการตามเปอร์เซ็นที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงของพื้นที่  ซึ่งหากมองให้ลึกซึ้งแล้วจะเห็นความสมดุลในทุก ๆ ด้านจนเกิดเป็นวิถีชีวิตที่ยั่งยืน 
          ด้านสภาพแวดล้อมที่สมดุลได้แก่ ไร่นาสวนผสมที่มีความหลากหลายของพืชพรรณ  มีพืชหลักคือข้าวที่ต้องเพียงพอที่จะกินกันทั้งปี มีพืชรองและสัตว์เลี้ยงที่จะทำให้เราไม่ขาดแคลนสารอาหาร  พรรณไม้ที่หลากหลายก่อให้เกิดวงจรชึวิตที่สมบูรณ์ของพืชและสัตว์   เสริมสร้างโอโซน ทำให้เราได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี  การลงมือลงแรงผลิตและดูแลพืชผลที่ไม่มากและไม่น้อยจนเกินไปคือแค่พอมีพอกินเหลือขายเล็กน้อยทำให้ได้ออกกำลังกาย  ส่งผลสุขภาพของเราแข็งแรง  การรู้จักพอเพียงทำให้จิตใจของเราไม่ฟุ้งเฟ้อทะเยอทะยานจนเกิดความเครียด จึงมีแต่ความสงบสุข
         การทำตามหลักทฤษฏีใหม่ของพระองค์ ทำให้เราต้องใช้ความคิดในการวางแผนจัดการ ใช้การเรียนรู้  ทำให้เกิดเป็นสติและปัญญาตามมา  ซึ่งจะบันดาลใจให้มีความเพียรพยายามปฏิบัติจนชีวิตผ่านไปถึงจุดที่เกิดความสมดุลได้  คือการมีอาชีพที่ก่อให้เกิดผลผลิตที่จะเลี้ยงชีวิตอย่างยั่งยืน  แข็งแรง สมบูรณ์ จากปัจจัยด้านอาหารที่ครบถ้วนตามหลักโภชนาการ ปลอดสารพิษ   จากการได้ออกกำลังกายด้วยการทำงานกลางแจ้ง  จากการได้ใช้ชิวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีมีโอโซนบริสุทธ์  และจากการใช้ชีวิตอยู่อย่างเรียบง่ายไม่เร่งรีบ ไม่เครียด  ด้วยการยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพระองค์
         ผมเห็นว่านี่คือแนวพระราชดำริที่วิเศษที่สุด  สำหรับการสร้างสมดุลให้กับชีวิตของเราให้ดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืนและเป็นสุข  ถึงแม้วันนี้พระองค์ท่านจะเสด็จสวรรคตสู่สวรรคาลัยแล้ว  แต่วิถีชีวิตของราษฎรที่น้อมนำแนวทฤษฎีใหม่และยึดหลักเศรษฐิกจพอเพียงมาใช้นั้น  จะสืบทอดวิถีชีวิตที่สมดุลและมีความสุขอย่างยั่งยืนไปอีกนานแสนนาน
       
                                                                                                                ราเมศร์  เรืองอยู่
                                                                                                                    พ.ย. 2559

วันเสาร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2559

สวางค์ สวรรค์ สรรเสก

     ในความ  เจ็บปวด  รวดร้าว
มองฟ้า  หาดาว  พราวแสง
ต่างตา  ห่วงรัก  ประจักษ์แจ้ง
มอบขวัญ  กล้าแกร่ง  แรงใจ
     ตะวันเรื่อ  เอื้อแสง  สีทอง
สาดส่อง  ต้องหยาด  น้ำใส
ระยิบระยับ  ประดับ  เขียวไพร
ชายเลน  แมกไม้  ในสวางค์
     กาน้ำ  กระยาง  นางนวล
เหินหวน  ทวนลม  รุ่งสาง
หมอกหม่น  ร่มใบ  รางราง
เรือน้อย  ลอยคว้าง  ชมทะเล
     เดือนเคียว  เกี่ยวฟ้า  เฝ้ามอง
นกซร้อง  ก้องไกล  สรวลเส
ปลุกเถื่อน  เพื่อนป่า  ฮาเฮ
คลื่นเห่  เร่รัก  เริงรมย์


 
 คืนหนึ่ง  คืนนั้น  จันทร์ยิ้ม
สองดาว  เพราพริ้ม  สุดสม
เพื่อนเอ๋ย  เพื่อนไข้  ได้ชม
สะอื้น  ขื่นขม  สุขพลัน
     สวางค์   สวรรค์  สรรเสก
มุ่นเมฆ  กรายป่า  พนาสัณฑ์
เช้าสาย  บ่ายเย็น  คืนวัน
ประดุจหมอฯลฯ  เวียนกัน  สู่ขวัญเรา
     ขอสิ่ง  ศกดิ์สิทธิ์  ฤทธิไกร
รับกราบ  คนไข้  หายเหงา
บันดาล  งานหมอฯลฯ   บางเบา
เลิศเชาว์  เลิศลักษณ์  ภัคดิพร






รองศาสตราจารย์ประภาศรี  ศิริจรรยา                                       ร้อยกรอง
ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู สวางคนิวาส บางปู                                     ๒๕๕๒







             นี่เป็นบทร้อยกรองที่รองศาสตราจารย์ประภาศรี  ศิริจรรยา  มอบให้ไว้เมื่อครั้งที่ท่านมาเข้ารับการฝึกฟื้นฟูร่างกายที่ศูนย์เวชศาสตร์ฟืื้นฟู สภากาชาดไทย ท่านไม่ได้เป็นคนไข้ในการดูแลของผมโดยตรง  แต่ด้วยรูปแบบการให้บริการแบบแฟมิลี่ของเรา  ทำให้ผมได้รับการเอ็นดูและเมตตาจากท่าน  และกรุณาให้คำอบรมสั่งสอน  ผลักดันให้มีการพัฒนาตนเองในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านภาษาอังกฤษ
            ผมรื้อเอกสารเก่าที่เก็บไว้แล้วก็พบกลอนบทนี้อีกเจ็ดปีต่อมานับจากที่ท่านมอบกลอนบทนี้ให้  ทำให้นึกถึงท่านและอยากทั้งเก็บและเผยแพร่กลอนบทนี้ในเวลาเดียวกัน  จึงขอนำกลอนบทนี้ลงไว้ในบล๊อกนี้
                                                                                                ราเมศร์
                                                                                          ตุลาคม ๒๕๕๙

วันศุกร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ซาปา...สู่สูงสุดอินโดจีน


             ซาปา...อดีตเมืองพักตากอากาศของชาวฝรั่งเศสในสมัยที่เข้ามาปกครองในยุคอาณานิคม  ด้วยลักษณะภูมิประเทศที่สวยงามของเมืองที่อยู่บนไหล่เขา อากาศเย็นสบายตลอดปี มีวิถีวัฒนธรรมของชาวเขาเผ่าต่าง ๆ ทำให้ซาปาในปัจจุบันเป็นเมืองในฝันของนักท่องเที่ยวที่จะได้มีโอกาสไปสัมผัสและซึมซับความรู้สึกกันสักครั้ง  เมื่อไปสัมผัสแล้วก็ส่งต่อความรู้สึกดีๆ และภาพความสวยงามสู่สื่อต่าง ๆ ในโลกออนไลน์  ยิ่งทำให้เมืองแห่งนี้เป็นที่รู้จักมากขึ้น
             ผมเองในฐานะคนๆหนึ่งที่ชื่นชอบการเข้าไปอยู่หรือสัมผัสวิถีทางธรรมชาติ  ก็ใฝ่ฝันเหมือนกันว่าสักวันหนึ่งจะได้ไปเดินสูดวิถีชีวิตแห่งเมืองซาปาให้ชุ่มปอด  เมื่อเวลาและโอกาสเอื้ออำนวยผมจึงจัดทริปเที่ยวซาปาโดยไม่ต้องรีรอโดยทริปนี้มีผม ภรรยา ลูกสาว และเพื่อนอีกหนึ่งคน เลือกช่วงเวลาที่ลูกสาวปิดภาคเรียน ได้ในวันที่ 5 - 8 ตุลาคม 2559 ให้เป็นช่วงเวลาของการปรับความสมดุลให้กับชีวิตระหว่างการทำงานและการพักผ่อน แล้วทำการหาข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่และการเดินทางมีเวลาประมาณสองเดือนแล้วก็ทำการจองตั๋วเครื่องบินซึ่งเราเลือกสายการบินราคาประหยัดเพราะใช้เวลาบินแค่ชั่วโมงกว่า ๆก็ถึงฮานอยแล้ว เราใช้บริการนกแอร์ในเที่ยวไปและกลับด้วยเวียตเจ็ท แล้วเราก็จองโรงแรมผ่านอโกด้า โดยเลือกดูจากราคาและคำติชมของผู้ที่โพสต์ไว้ แล้วผมก็ตัดสินใจจองโรงแรม Phoung Nam Hotel และก็จองตั๋วรถบัสนอนจากฮานอยไปซาปาเพราะประหยัดเวลาและตารางการเดินทางลงตัวกว่าไปซาปาด้วยรถไฟเนื่องจากเราไม่ต้องการเที่ยวในเมืองฮานอย


         เมื่อวันเดินทางมาถึงเราก็ต้องไปขึ้นเครื่องทีสนามบินดอนเมือง เราออกจากบ้านที่บางปูตั้งแต่ตีสามเพื่อไปให้ถึงดอนเมืองก่อนตีห้าเพราะเครื่องเราออกหกโมงสิบนาที เพื่อทำการเช๊คอิน และเที่ยวบินนี้แจ้งเราว่าไม่สามารถเช๊คอินออนไลน์ได้  ฝนตกหนักก่อนหน้าที่เราจะออกเดินทางทำให้กังวลเล็กน้อยแต่ก็โอเคดีรถไม่ติด แทกซี่ที่นัดหมายไว้ก็มารับและสามารถส่งเราได้ก่อนเวลาที่คิดไว้  


           เครื่องบินออกตรงเวลาเป๊ะมากและพาเรามาถึงสนามบินโหน่ยบ่าย(Noi ฺฺฺBai)ที่ฮานอยตอนแปดโมงกว่า ๆ ก่อนเวลาตามตารางประมาณยี่สิบนาทีพร้อมบริการอาหารว่างบนเครื่อง อีกเหตุผลที่เลือกสายการบินนี้เพราะให้เราโหลดกระเป๋าฟรี 30 กิโลเลยสำหรับเส้นทางกรุงเทพ - ฮานอย  ประมาณเก้าโมงเราก็ผ่านตรวจคนเข้าเมืองและรับกระเป๋าเรียบร้อย  เราทำการแลกเงินเป็นเวียตนามด่องและสอบถามเรื่องการเดินทางเข้าเมือง ผมถามราคาแทกซี่จากเคาเตอร์บริการข้อมูลการท่องเที่ยวบอกว่าราคา 22 เหรียญ US ตามแผนการเดินทางเราต้องไปขึ้นรถที่จะไปซาปาที่สถานีขนส่งหมีดิ่น ( My Dinh Bus Station ) ตอนบ่ายโมง เราจึงมีเวลาเหลือประมาณสี่ชั่วโมง ผมจึงชวนกันไปนั่งรถเมล์เข้าเมืองแล้วค่อยต่อรถแทกซี่ไปที่สถานีอีกทีเนื่องจากไม่มีรถเมล์จากสนามบินที่จะไปถึงสถานีขนส่ง เราจึงเดินแบกเป้ไปขึ้นรถเมล์สาย 7 :ซึ่งอยู่ทางซ้ายของทางออกสนามบินอาคาร 2 เรารออยู่ที่ป้ายรถเมล์แบบงง ๆ อยู่พักหนึ่งเพราะไม่มีภาษาอังกฤษบอกอะไรเราเลยรถเมล์ก็วิ่งเข้ามา พวกเราก็ขึ้นไปปรากฏว่าที่นั่งเต็มเพราะรถวิ่งมาจากอาคาร  1 ที่ใช้เป็นอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ เราจึงต้องยืนและวางสัมภาระไว้ข้างตัว (ถ้าจะนั่งต้นสายต้องนั่ง shorter bus ไปที่ terminal 1) ลักษณะรถถูกออกแบบมาให้มีพื้นที่สำหรับยืนมากกว่านั่ง แต่ก็ถือว่าได้ท่องเที่ยวแบบสัมผัสวัฒนธรรมจริง ๆ และราคาตั๋วถูกมากคือคนละแปดพันเวียดนามด่องหรือสิบบาทกว่า ๆ 


จุดจอดรถเมล์อยู่ด้านซ้ายของอาคาร
       
   ผมชี้ตำแหน่งป้ายรถเมล์ในแผนที่ที่ผมเซฟไว้ในมือถือให้กระเป๋ารถเมล์ดูเพื่อบอกว่าเราจะลงตรงไหน ซึ่งเขาก็พยักหน้าและช่วยบอกเราโดยที่ไม่ต้องใช้ภาษาพูดเลย  เมื่อลงจากรถเมล์มีฝนตกเล็กน้อยพวกเราก็มองหาแท็กซี่สีเชียวที่ชื่อ Mailinh เพราะศึกษาทางอินเตอร์เน็ตมาว่าไม่โกงผู้โดยสาร และเราก็ขึ้นมาเป็นรถอีโก้คาร์คันเล็กนั่งได้สี่คนพอดี ติดมิเตอร์ และเมื่อมาถึงที่หมายก็ไม่โกงแค่บอกเราว่าไม่มีตังค์ทอน(พูดภาษาเวียตนามพร้อมหควักแบงค์ที่มีอยู่ให้เราดู)เราก็เลยทิปให้ไปไม่ต้องทอน




     ที่สถานีขนส่งเราได้พบเด็กหนุ่มสาวคู่หนึ่งซึ่งมีน้ำใจและทำให้เราประทับใจมาก  เพราะเมื่อมาถึงสถานีขนส่งผมก็ไปติดต่อที่เคาเตอร์ของบริษัทรถที่ชื่อ Hason Haivan พร้อมกับเอกสารการจอง พนักงานบอกให้ผมกลับมานั่งรอที่เก้าอี้แล้วให้ไปติดต่อใหม่เวลาเที่ยง(ตอนนั้นเวลาสิบเอ็ดโมงครึ่ง)แล้วก็คืนเอกสารกลับมา ผมก็ทำหน้างง ๆ ว่าตกลงผมจะได้ตั๋วรถไหม  ขณะนั้นหญิงสาวที่นั่งอยู่ใกล้ ๆ ก็ถามว่าจะไปไหน เรารู้วิธีขึ้นรถไหม  ผมก็เอาใบจองรถให้ดู เธอก็หันไปพูดกับชายหนุ่มอีกคนที่นั่งอยู่ข้างหลัง  แล้วชายหนุ่มคนนั้นก็เดินไปคุยกับพนักงานที่เคาเตอร์ขายตั๋วแล้วกลับมาบอกว่าให้ผมนั่งรอเดี๋ยวจะมีคนมาพาพวกเราไปขึ้นรถ แล้วให้เราไปซื้อตั๋วและจ่ายเงินบนรถ  ผมก็ยังทำหน้างง ๆ ต่อเพราะสงสัยว่ามันจะเป็นเรื่องเดียวกันกับที่ผมจ่ายค่ารถส่วนหนึ่งมาแล้วตอนจองหรือไม่  ทำไมไม่จ่ายที่เคาเตอร์  พอถึงเวลาเที่ยงก็มีคนมาเรียกให้เดินตามไปขึ้นรถที่จอดอยู่อีกฝั่งหนึ่งของสถานี  เด็กหนุ่มคนนั้นก็บอกให้พวกเราตามไป พอไปถึงรถก็ขึ้นไปพร้อมยื่นเอกสารให้พนักงานผู้หญิงที่นั่งเก็บเงินอยู่บนรถ เธอให้เราจ่ายส่วนที่เหลือตามที่เอกสารการจองแจ้งไว้(ค่ารถไป-กลับของเราคนละ 30 เหรียญUS) แต่ไม่ได้ออกตั๋วให้เรา พอถามหาตั๋วคนขับก็บอกว่าของเราไม่ใช้ตั๋วผมก็เลยขอเอกสารมาเก็บไว้ใช้ตอนกลับ

 
   







       รถบัสนอนออกจากฮานอยตอนเที่ยงครึ่ง เป็นรถเบาะนอนที่ไม่เหมือนที่มีในบ้านเรา ก่อนขึ้นต้องถอดรองเท้าใส่ถุงหิ้วไปเก็บที่ที่นั่งของตัวเอง  ไม้มีห้องน้ำบนรถแต่จอดให้เข้าห้องน้ำระหว่างทาง ซึ่งพนักงานบนรถจะเอารองเท้าแตะใส่เข่งเตรียมไว้ตรงประตูทางลงรถไว้ให้สวมไปเข้าห้องน้ำ


        รถวิ่งไปตามเส้นทางที่สวยงาม  มีผู้โดยสารขึ้นลงตลอดเส้นทาง และจอดตามสถานีของบริษัทรถเป็นระยะ ๆ และมีพนักงานของบริษัทมาตรวจเอกสารเกี่ยวกับผู้โดยสารกับคนขับ   และเปลี่ยนพนักงานขับรถเมื่อครบสี่ชั่วโมงและจำกัดความเร็วที่แปดสิบลิโลเมตรต่อชั่วโมง




           พวกเรามาถึงจังหวัดหล่าวไกตอนประมาณห้าโมงครึ่ง รถแวะที่สถานีเปลี่ยนผ้าห่ม  และรับผู้โดยสารที่จะไปเมืองซาปา  ซึ่งเส้นทางต่อจากนี้จะเป็นทางขึ้นเขา และคดโค้ง  ใช้เวลาชั่วโมงกว่าเราก็มาถึงเมืองซาปา  รถจอดตรงสถานีขนส่ง พอลงรถก็มีคนขับมอเตอร์ไซด์รับจ้างบ้าง คนขับแทกซี่บ้าง รวมถึงไกด์อิสระมารุมล้อมเรา แต่สุดท้ายพวกเราตัดสินใจเดินไปที่โรงแรมที่อยู่ห่างไปประมาณหนึ่งกิโลเมตร  ถือโอกาสชมเมืองยามราตรี  เดินมาครึ่งทางก็รู้สึกว่าสัมภาระที่แบกมามันหนักขึ้นประกอบกับความหิวทำให้พวกเราต้องนั่งพัก แต่ไกล้จะถึงที่พักแล้วจะจ้างรถไปส่งก็ดูท่าจะไม่คุ้ม


           เราเช็คอินที่โรงแรมตอนสองทุ่มครึ่งเร็วกว่ากำหนดเดิมตามเวลาที่รถจะมาถึงประมาณสองชั่วโมง  เมื่อเก็บสัมภาระเรียบร้อยเราก็เดินออกไปหาอาหารมื่อเย็นกินกัน ได้เป็นร้านกวยเตี๋ยวไก่และมาต่อด้วยปิ้งย่างข้างทาง



                                                 
         วันที่สองของการเดินทาง
  
         เราตื่นเช้ามาสูดอากาสเย็นสบายบริเวณระเบียงหน้าห้องพัก  อุณหภูมิไม่เย็นมากอย่างที่คิด ก่อนมาผมตรวจสอบข้อมูลจากกูเกิ้ลได้ว่าอุณหภูมิต่ำสุดที่ประมาณ 11 องศา  แต่เช้านี้อยู่ที่ 18 องศา (ขอแนะนำว่าให้เช๊คจากหลาย ๆ แหล่ง เพราะเราขนเสื้อกันหนาวชุดใหญ่มาแต่ก็ไม่ได้ใช้)  แต่ก็ถือว่าเย็นสบาย  วิวสวยประทับใจมาก  เราลงไปรับประทานอาหารเช้าที่ทางโรงแรมจัดให้




                หลังทานอาหารเช้าที่โรงแรมซึ่งจัดเป็นบุฟเฟ่ พวกเราก็ไปที่ที่หมายแรกของโปรแกรมการเที่ยวในวันนี้คือการเดินลงไปที่หมู่บ้านคัทคัท (Cat Cat Village) ซึ่งเป็นหมู่บ้านชาวเขา  ซึ่งเราจะต้องซื้อตั๋วเข้าไปคนละห้าหมื่นเวียตนามด่อง ระหว่างทางเดินนั้นก็จะมีสินค้าชาวเขาวางขายไปตลอดเส้นทาง เราสามารถจ่ายเป็นเงินสกุลบาทได้ บางร้านแม่ค้าก็พูดไทยได้








             ตลอดทางเดินประมาณสามกิโลเมตรจากเมืองซาปา พวกเราเดินเพลิน ๆ ไปเรื่อย ๆ ในบรรยากาศฝนตกพรำ ๆ ฟ้าครึ้ม ๆ ลมอ่อน ๆ อากาศเย็นสบาย  วิวทิวทัศน์สวยงาม มีทุ่งนาขั้นบันไดที่เราเสียวดายมากเพราะพวกเขาเก็บเกี่ยวไปหมดแล้วมีเหลืออยู่น้อยมาก  มีนำ้ตก Tien Sa ที่สวยงาม เมื่อเดินไปจนใกล้ถึงทางออกหมู่บ้านเราก็จะเห็นกระเช้าลอยฟ้าที่ขึ้นไปที่ยอดเขา Fansipan






           หลังจากเดินรอบหมู่บ้าน คัท คัท แล้ว เราจะต้องเดินกลับขึ้นมาที่เมือง ตรงทางออกจากหมู่บ้านจะมีวินมอเตอร์ไซด์ และมารุมเชิญชวนให้เราใช้บริการ คิดค่าโดยสารคนละห้าหมื่นดองหรือประมาณเจ็ดสิบกว่าบาท  ตอนแรกพวกเราปฏิเสธแต่แล้วก็กลับใจภายหลังเมื่อรู้สึกหิวหมดพลังเดินแน่ ๆ  ประกอบกับเป็นเวลาเที่ยงวันแล้ว อากาศเริ่มร้อน เรามากินข้าวผัดที่ร้านแห่งหนึ่งซึ่งใช้ข้าวพื้นเมืองซึ่งลักษณะคล้าย ๆ ข้าวเหนียวหรือข้าวไร่ชาวเขาบ้านเรา  หลังจากนั้นเราก็ไปขึ้นเขาฮามรอง (Ham Rong) ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองซาปาซึ่งเราต้องเดินขึ้นไปมีบันได้สลับเส้นทางลาดชัน ซึ่งบนนั้นจะมีสวนไม้ดอกไม้ประดับ มีการขายของและการแสดงพื้นเมือง  และบนยอดสูงสุดจะเป็นจุดชมวิวของเมืองและบริเวณรอบ ๆ และสามารถมองเห็นยอดเขา Fansipan เป็นฉากหลัง


                                               จ่ายค่าบัตรผ่านคนละเจ็ดหมื่นเวียตนามด่อง





                เมื่อลงจากเขาฮามรองเราก็มาเดินเล่นในเมืองเพื่อดูวิถีชีวิตของคนเมืองซาปา  บริเวณหน้าโบสถ์คริสต์ จากรูปเดิมที่เห็นในร้านอาหารเป็นสระน้ำเก่า แต่ปัจจุบันปรับเป็นอัศจรรย์และมีลานกว้างตรงกลาง ตกเย็นจะมีผู้คนมาเล่นกีฬาและทำกิจกรรมกลางแจ้ง  ถัดจากลานหน้าโบสถ์ก็จะเป็นทะเลสาบกลางเมืองที่มีการประดับไฟอย่างสวยงามยามค่ำคืน





                     หลังจากนั้นเราก็เดินหาร้านอาหาร สุดท้ายก็ได้ร้านใกล้ ๆโรงแรมที่พักนั่นเอง  วันนี้เราเลือกกินฮอทพอทปลาแซลมอน และเมืองซาปาก็เป็นแหล่งผลิตปลาแซลมอนของเวียตนามเนื่องจากมีการทำฟาร์มปลาที่นี่  ที่ประทับใจคือผักที่เสริร์ฟมาให้เยอะมาก เป็นยอดฟักแม้วที่อร่อยมากและเราก็กินจนหมด






วันที่สามของการเดินทาง



                     วันนี้เราวางแผนว่าจะไปขึ้นยอดเขาฟานสิปันด้วยกระเช้าลอยฟ้า  จากข้อมูลที่หามา  เวียตนามใช้เวลาสองปีในการสำรวจและสร้างโดยวิศกรชาวสวิตเซอแลนด์ มีระยะทางยาวที่สุดในโลกคือ 6 กิโลเมตร และเปิดใช้เมื่อต้นปี 2016 นี่เอง ตอนที่เราไปก็ยังกำลังมีการก่อสร้างอาคารต่าง ๆ ที่สถานีซาปาเพราะจะมีที่พักที่เป็นโรงแรมและรีสอร์ทด้วย  จากเมืองซาปาเราถามข้อมูลที่โรงแรมว่าต้องนั่งรถไปประมาณ 4 กิโลเมตร และมีบริการแทกซี่ เราจึงไปดวยแทกซี่มิเตอร์เพราะเรามีแค่สี่คนพอดัคัน  เราจ่ายค่าแทกซี่ไปแปดหมื่นดอง





ต้องซื้อตัวไปกลับคนละหกแสนเวียตนามด่อง ประมาณเก้าร้อยกว่าบาท






                            หนึ่งกระเช้านั่งได้สามสิบคน  แต่วันที่เราไปเป็นวันศุกร์คนเที่ยวจึงไม่เยอะมากและไม่ต้องรอคิว  เจ้าหน้าที่บอกให้เราเก็บตั๋วไว้ใช้ขากลับด้วยอย่าทำหาย  กระเช้าพาเราจากสถานีซาปาไปสู่ยอดเขาลูกหนึ่ง หากมองมาด้านล่างจะเห็นหมู่บ้านและนาขั้นบันได เมื่อผ่านยอดเขาลูกแรกไปก็จะเป็นเขตอุทยานที่มีป่าไม้อุดมสมบูรณ์และเห็นธารน้ำตกอยู่สองสามแห่ง










                            เมื่อมาถึงสถานีฟานสิปันก็จะมีภัตราคาร ร้านอาหาร ร้านกาแฟ แต่การจะไปสู่ยอดสูงสุดของเขาฟานสิปันที่ความสูง 3134 เมตร  เราจะต้องเดินขึ้นบันไดไปอีก  เนื่องจากวันนี้เป็นวันที่ท้องฟ้าเปิด อากาศบนยอดเขาจึงไม่หนาวเย็นอย่างที่คิด มีเมฆพัดผ่านเป็นระยะ






               การเดินขึ้นสู่ยอดสูงสุดของเขา Fansipan นับจากสถานีกระเช้าลอยฟ้าจะต้องเดินขึ้นบันไดไปอีกหกร้อยกว่าขั้น  ซึ่งจะต้องใช้กำลังขาพอสมควร และอากาศเบาบางอาจจะเหนื่อยง่าย  แต่ระหว่างทางขึ้นก็จะมีเก้าอี้ยาวให้นั่งพักเป็นระยะ ๆ  กำลังมีการก่อสร้างอาคารที่ยังไม่แล้วเสร็จ เช่น ศาลเจ้าแม่กวนอิม ทำให้ได้เห็นความมุ่งมั่นพยายามและความเหนื่อยยากของบรรดาช่างและแรงงานที่ทำการก่อสร้าง  แต่ความยิ่งใหญ่อลังการของผลงานก็น่าจะพลิกกลับความเหนื่อยยากเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งใหญ่ได้เหมือนกัน



                     
              เราลงจากยอดเขาฟานสิปันตอนใกล้เที่ยง  ตรงทางออกจะบังคับให้เราต้องเดินผ่านร้านขายของที่ระลึก และมีภัตราคาร แต่แวะดูราคาในเมนูอาหารแล้วราคาอาหารจานเดียวค่อนข้างสูง


          พวกเราเลยตกลงกันว่ากลับไปหาร้านในเมืองซาปาดีกว่า แล้วเราก็เรียกแทกซี่กลับที่พัก  ความเหนื่อยล้าจากการเดินขึ้นลงบันไดรวมพันกว่าขั้นทำให้พวกเราอยากจะนอนผ่อนคลายที่โรงแรม  แล้วตกลงกันว่าตอนเย็นจะไปเดินเล่นชมเมืองและหาซื้อของที่ระลึกที่ตลาดกลางคืน




                 
                     เมืองนี้แต่เดิมเป็นที่อาศัยของชนเผ่าต่าง ๆ ต่อมามีการสร้างเมือง มีตึกรามบ้านช่องแบบฝรั่งเศษที่สวยงามของคนเมืองและก็เป็นเจ้าของร้านขายของ  ส่วนชาวเขาก็วางขายข้างถนน และยึดมั่นในวัฒนธรรมอย่างมากซึ่งเห็นได้จากการแต่งกายและภาษาที่ใช้  และสภาพบ้านเรือนที่เห็นในหมู่บ้านก็เป็นแบบดั้งเดิม  แต่รูปภาพชนเผ่าเหล่านี้กลับปรากฏอยู่ทั่วไปในสื่อประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวซาปา  หรือนี่คือความสมดุลของชีวิตที่ทำให้พวกเขาดำรงชีวิตอยู่ได้  เพราะการที่ยังมีรูปแบบชีวิตแบบนี้ทำให้มีนักท่องเที่ยวที่จะมาซื้อของที่ระลึกจากพวกเขา  มีข้อสังเกตุอยู่อย่างหนึ่งคือก่อนที่จะไปเมืองซาปามีคนเล่าไว้ว่าหากเราเดินไปเที่ยวที่หมู่บ้านคัทคัทจะมีชาวเขาเดินประกบเราไปตลอดทางเพื่อขายของที่ระลึกให้  แต่เท่าที่สังเกตุเห็น  พวกเขาไม่เดินตามนักท่องเที่ยวคนไทยหรือคเอเซียเลย พวกเขาตามแต่ฝรั่ง
                   คืนนี้เราเช็คเอาท์ออกจากโรงแรมตอนสามทุ่มและเดินทางกลับฮานอยด้วยรถบัสนอนที่เราจองตั๋วไว้ แทกซี่พาเราไปส่งที่สำนักงานของบริษัทรถที่อยู่ใกล้ ๆ กลับสถานีขนส่งซาปา โดยเราได้ตั๋วเที่ยวห้าทุ่ม

                                                                       สถาพภายในรถ
             
               เรามาถึงฮานอยตอนตีสี่ครึ่ง มีคนบอกว่าที่ซาปาเราสามารถนอนต่อบนรถได้จนสว่างแต่ที่ฮานอยคนขับบอกให้เราลง  พวกเราก็เลยต้องลงมานั่งรอสว่างที่เก้าอี้พักผู้โดยสารในสถานีขนส่ง  ล้างหน้าแปรงฟัน เข้าห้องน้ำ (ค่อนข้างสกปรก)  บรรยากาศในสถานีขนส่งก็คล้ายๆ ที่บ้านเราที่จะมีพวกบริการแทกซี่มารุมล้อมเรียกให้เราใช้บริการ  ตามแผนเดิมผมกะว่าจะนั่งแทกซี่เข้าไปในเขตเมืองเก่าที่เรียกว่า Old Quarter ใกล้ ๆ กลับทะเลสาบหว่านเกี๋ยม แต่เห็นว่ามีเวลาเหลือพอที่จะเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ผมจึงดูในแอปพลิเคชั่น Veitnam bus ที่โหลดไว้ในมือถือ  ก็เห็นว่ามีรถบัสสาย 34 วิ่งจากสถานีขนส่งผ่านไปแถว ๆ นั้น  เราจึงนั่งรถเมล์กันอีกครั้ง

รถเมล์สาย 34
   
              อาจเพราะเป็นช่วงเช้าของวันเสาร์รถจึงไม่ติดเลย คนขึ้นรถก็ไม่แน่นและก็ได้ห็นว่าเมื่อคุณป้า ๆ ทั้งหลายขึ้นมาบนรถถ้าเห็นว่ามีที่ว่างตรงไหนนั่งได้ก็จะพากันนั่งทันที ถอดรองเท้ารองก้นแล้วก็นั่งเลย ผมพยายามถามคนบนรถที่ดูมีการศึกษาว่าถึงที่ที่ผมจะลงหรือยังโดยชี้ตำแหน่งบนแผนที่ในโทรศัพท์มือถือ เด็กหนุ่มคนหนึ่งพยายามที่จะช่วยเหลือผมมากแต่คุยกันไม่ค่อยเข้าใจ แต่สุดท้ายเราก็ลงได้ตรงป้าย
 ปัญหาต่อมาคือจะเดินไปทางไหนเพราะย่านนี้ตรอกซอกซอยเยอะมาก


              ผมเลือกถามคนที่แต่งตัวดูดีเหมือนทำงานธนาคารแต่ปรากฏว่าเธอใช้ภาษามือแล้วชี้ไปที่เด็กนักเรียนคนหนึ่ง  เด็กเข้าใจว่าผมจะนั่งรถเมล์ไปสนามบินจึงชี้บอกให้ผมไปขึ้นรถเมล์ฝั่งตรงข้าม  ผมเลยคิดว่าพึ่งตนเองดีกว่าจึงเปิดแอปพลิเคชั่นแผนที่ในมือถือเพื่อหาตำแหน่งด้วยจีพีเอส  ที่นี้ชัดเจนมากเลย ไม่คิดว่ามันจะใช้ได้  รู้อย่างนี้ใช้ตั้งแต่ตอนอยู่บนรถเมล์แล้ว   เราเดินไปเรื่อย ๆ จนถึงทะเลสาบ  แต่เราแวะกินอาหารข้างทางกันก่อน  เห็นมีอาหารชนิดหนึ่งคล้าย ๆ ข้าวเกรียบปากหม้อ แต่มีน้ำซุปด้วย

กินบากวนหน่องกัน






                   เราเดินมานั่งเล่นดูวิถีชีวิตตอนเช้าบริเวณทะเลสาบหว่านเกี๋ยมหรือทะเลสาบคืนดาบ ซึ่งตอนช่วงเช้าจะปิดถนนไม่ให้รถวิ่ง มีคนมาเดินและวิ่งออกกำลังกาย รำมวยจีน เดินเล่นกันเป็นครอบครัว และถ่าย Pre-wedding กัน


                   



                            การมาเดินเล่นย่านนี้ไม่ได้อยู่ในโปรแกรมเดิมของเรา แต่เนื่องจากสายการบินเวียตเจ็ทแจ้งเราว่ามีการจัดตารางเวลาเที่ยวบินใหม่  จากเดิมเครื่องออกสิบเอ็ดโมงเลื่อนเป็นบ่ายสามโมง จึงทำให้เรามีเวลาเหลือ แต่เนื่องจากมีสัมภาระเป็นเป้คนละเจ็ดถึงแปดกิโลอยู่บนหลังทำให้เราไม่สะดวกที่จะเดินเล่น  เราจึงจะเดินช็อปปิ้งของที่ระลึกเล็กน้อยแล้วก็ไปเดินเล่นที่สนามบินดีกว่า


                                                                        ร้านกาแฟสด

             จากย่านนี้มีรถเมล์สาย 17 วิ่งไปถึงสนามบินโหน่ยบ่าย  แต่เราขี้เกียจที่จะแบกเป้เดินไปขึ้นรถจึงเรียกแทกซี่มิเตอร์ไปส่ง ระยะทางประมาณเกือบสามสิบกิโลเมตรค่าแทกซี่หกร้อยกว่าบาทก็พอรับได้อยู่








                            สนามบินอาคารที่สองสำหรับผู้โดยสารระหว่างประเทศ  ผู้คนไม่ค่อยพลุกพล่าน เราหาอาหารกลางวันทานกันที่ร้าน star ราคาปกติมากไม่แพงเลย ข้าวกล่องสำเร็จรูปประมาณห้าสิบบาท  หลังจากนั้นเราก็เช็คอินแล้วผ่านตรวจคนขาออกแล้วไปเดินดูร้านค้าที่มีอยู่หลายร้านมากทีเดียว




                      เครื่องบินออกจากสนามบินตรงตามเวลา  พาเรากลับมาลงที่สุวรรณภูมิอย่างปลอดภัย แต่กัปตันแจ้งว่าที่สนามบินสุวรรณภูมิมีฝนฟ้าคะนองอย่งหนัก ต้องบินวนรออยู่ยี่สิบนาที








     การเที่ยวในทริปนี้เป็นทริปเล็ก ๆ ที่ลงตัวพอดี  ตัดสินใจวางแผนการเที่ยวได้ง่าย แต่รูปแบบการเที่ยวแบบแบ๊คแพ๊คดูจะไม่ค่อยเหมาะกัยวัยของเราเท่าไหร่  เอาไว้ทริปหน้าเราจะหาสมดุลให้ดีกว่านี้


                                                                                                                         ราเมศร์  เรืองอยู่
                                                                                                                               ต.ค. 59