วันเสาร์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2555


โรงเรียนชีวิต....กับโอกาสในการเรียนรู้

                                                                                                    โดย...ราเมศร์  เรืองอยู่






                  เมื่อวันที่ 21 – 22 เมษายน 2555  ในช่วงสาย ๆ ของวันที่ร้อนระอุ  ข้าพเจ้าพาครอบครัวประกอบด้วยภรรยาและลูกสาววัยเก้าขวบย่างกรายเข้าไปสัมผัสชีวิตในอีกรูปแบบหนึ่งที่ข้าพเจ้าไม่คุ้นชินตามคำแนะนำของบุคคลท่านหนึ่งซึ่งข้าพเจ้าขออนุญาตเรียกท่านว่า อาจารย์มณีวรรณ  กมลพัฒนะ    ที่ ๆ ข้าพเจ้าไปก็คือ มูร่าห์ฟาร์ม  เป็นฟาร์มควายนมแห่งแรกของไทย  ซึ่งอยู่ที่อำเภอแปลงยาว จังหวัดฉะเชิงเทรา  และในการเดินทางครั้งนี้ข้าพเจ้าไปฟร้อมกับเพื่อร่วมงานอีกสี่คน   ข้าพเจ้าทราบแต่เพียงว่าอาจารย์มณีวรรณต้องการให้ไปดูเกี่ยวกับโรงเรียนชีวิต  แต่ก็ไม่ทราบว่าโรงเรียนมันเป็นอย่างไรและยินดีที่จะไปด้วยเหตุผลว่าเป็นโอกาสที่จะได้เจอและพูดคุยกับอาจารย์หลังจากที่ไม่ได้เจอกับท่านนานประมาณสองปีแล้ว  และจะได้พาครอบครัวไปเที่ยวดูพาร์มความนม   โดยเฉพาะลูกสาวที่อยากให้ได้ไปรับประสบการณ์ที่แปลกใหม่  และสุดท้ายที่ต้องได้แน่

                                    
            หลังจากทานอาหารกลางวันที่แม่บ้านที่ฟาร์มปรุงให้ใหม่ ๆ ร้อน ๆ แล้ว   ข้าพเจ้าก็มีโอกาสเดินสำรวจรอบ ๆ ฟาร์ม  รวมถึงลงไปสัมผัสเจ้าควายที่กระจายอยู่ตามคอกต่าง ๆ ซึ่งไม่ทราบว่าแบ่งอย่างไร  เพราะเป็นการเดินดูตามอัธยาศัยไม่มีไกด์แนะนำ  ด้วยสภาพอากาศที่ร้อนมากทำให้เดินดูอยู่ได้ไม่นานก็กลับมานั่งในอาคารและสนทนากับอาจารย์มณีวรรณ  ซึ่งวันนี้ท่านมากับน้องชายคืออาจารย์หมอไพโรจน์  และลูกชายของท่านคือคุณกมล  อาจารย์ก็พูดให้ฟังว่าอาจารย์จะทำโรงเรียนชีวิตและมีเอกสารให้เรา  ซึ่งมีหลัก และสูตรในการเรียน  สรุปได้ว่าเป็นโรงเรียนที่หากเราปฏิบัติตามหลักและสูตรนี้แล้วสุดท้ายจะเกิดมุมมองของการดำเนินชีวิตที่มุ่งเน้นเรื่องของความสมดุลที่จะอยู่กับธรรมชาติอย่างเกื้อกูลซึ่งกันและกัน  การใช้ประโยชน์สูงสุดจากธรรมชาติโดยทำลายธรรมชาติน้อยที่สุด  และใช้ปัญญาที่เกิดจากการฝึกปฏิบัติผ่านกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน  สุดท้ายเราจะสามารถผลักดันวิถีปฏิบัติผ่านช่องทางของแต่ละสาขาอาชีพไปสู่บุคคลอื่น ๆที่มีความพร้อมตามบริบทของแต่ละคน

             อาจารย์ได้กล่าวถึงเรื่องสภาวะของโลกที่เปลี่ยนแปลงว่าเราจะรับมือกับมันอย่างไร   การเมืองที่ผันผวนระดับโลกและระดับประเทศที่มีผลประโยชน์แอบแฝงหรือความไม่รู้จักพอเป็นพื้นฐาน    สุดท้ายก็จะส่งผลกระทบมาที่ตัวเราอย่างเลี่ยงไม่ได้  ผ่านทุก ๆ ทาง  ทั้งธรรมชาติ ทางสังคม และเศรษฐกิจ    อาจารย์พูดถึงวิถีการกินที่มุ่งเน้นเรื่องการรักษาความบกพร่องของการทำงานของเซลร่างกาย  เนืองจากอาจารย์เป็นโรคหลอดเลือดสมองทำให้มีอาการเป็นอัมพาตครึ่งซีกซ้ายของร่างกาย  ด้วยความที่เป็นนักวิทยาศาสตร์และเชี่ยวชาญเรื่องเคมี   อาจารย์จึงเลือกวิธีรักษาด้วยการรับประทานอาหารที่เป็นคุณกับความต้องการของร่างกายจริง ๆ ภายใต้การกำกับดูแลของนายแพทย์สุชาติ  ซึ่งอาจารย์ต้องไปปรับสมดุลร่างกายทุกสัปดาห์  และอาจารย์ก็พิสูจน์ด้วยตนเองแล้วเห็นว่าระบบการทำงานของร่างกายดีขึ้นจริง  เช่น ระดับความดันเลือดเป็นปกติโดยที่ไม่ต้องใช้ยาปรับความดัน     และปัจจุบันอาจารย์ก็ได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมะอย่างลึกซึ่งและทำกิจกรรมที่ส่งเสริมพุทธศาสนา  และดูเหมือนว่าอาจารย์พบสิ่งที่ยิ่งใหญ่และอยากให้มันเกิดประโยชน์กับคนที่ด้อยปัญญาเฉกเช่นข้าพเจ้า  กลุ่มของเราก็ได้มีการสนทนากันในประเด็นที่เกี่ยวกับธรรมะ  เช่นคุณรัญจวน  ผู้ซึ่งเป็นเจ้าของฟาร์มที่ยึดถือปฏิบัติพุทธศาสนาแบบมหายานได้พูดเรืองแปดโลกที่มีตั้งแต่นรกถึงสวรรค์ ซึ่งข้าพเจ้าจำไม่ค่อยได้  ทราบแต่ว่าเรายังอยู่ในโลกมนุษย์ที่มีรัดโลภโกรธหลง  แต่สำหรับตัวข้าพเจ้าเองคิดแค่เพียงว่าในการดำเนินชีวิตนั้นขอให้รู้ตัวตลอดเวลาว่ากำลังรักโลภโกรธหรือหลง  เพราะถ้าเรามีสติมันจะทำให้เรารู้ว่าเราควรจะทำอย่างไร   อาจารย์ถามข้าพเจ้าว่าเห็นอะไรจากการเดินดูธรรมชาติรอบ ๆ ฟาร์ม  ข้าพเจ้าบอกว่าเห็นความลำบากท่ามกลางความร้อนทั้งของตัวข้าพเจ้าและของควาย    และถามว่าขาพเจ้าว่าจัดสมดุลของชีวิตอย่างไร  ปัจจุบันมีอะไรที่ทำให้ข้าพเจ้าเสียสมดุลบ้าง  แต่ครั้งนี้ข้าพเจ้าไม่ได้ตอบคำถามของท่านตรง ๆ เนื่องด้วยบรรยากาศของการพูดคุยกันหลาย ๆ คนทำให้ประเด็นการตอบคำถามของข้าพเจ้าตกไปอย่างเนียน  แต่ข้าพเจ้าคิดว่าอาจารย์ทราบคำตอบเพราะเราเคยคุยกันเรื่องนี้เมื่อนานมาแล้ว  
  

         ตอนเย็นเราก็มีโอกาสได้ไปเดินเล่นชมฟาร์มกันอีกครั้งในบรรยากาศแบบแดดร่มลมตก  แล้วต่อด้วยอาหารเย็นมื้อพิเศษ  เพราะเป็นอาหารในรูปแบบที่เพื่อสุขภาพจริง ๆ  ประกอบด้วย สเต็กเนื้อ ซุปเอ็น  พิซซ่า  โอเมกา 3 จากปลาสวาย  และตบท้ายด้วยเค๊กชอคโกแลตหวานน้อยแสนอร่อยพร้อมกับร้องเพลงแฮบปี้เบิร์ดเดย์ให้อาจารย์หมอไพโรจน์ คุณพิมล และคุณต๋อม  แคร์กีฟเวอร์ของอาจารย์  หลังจากนั้นเราสนทนากันเรื่องอาหารการกินถึงประมาณสี่ทุ่มกว่าก็แยกย้ายกันไปพักผ่อน

        ข้าพเจ้าได้ยินเสียงไก่ขันตั้งแต่ตีห้ากว่า ๆ และคิดว่าคงนอนต่อไม่หลับจึงเตรียมตัวลงมาเดินเล่นรับอรุณและสูตรอากาศสดชื่นพร้อมกับกาแฟหอมกรุ่นสักแก้ว  แล้วทุกอย่างก็เป็นไปตามนั้น  และเช้านี้เราได้รับเกียรติจากเจ้าของฟาร์มคือคุณรัญจวนได้พาเรานั้งรถโฟร์วีลขับตะเวณดูรอบ ๆ ฟาร์มบนเนื้อที่กว่าสี่ร้อยไร่  ซึ่งก็เป็นที่ตื่นตาตื่นใจเป็นอย่างมาก  ได้เห็นการพยายามบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดของเจ้าของฟาร์ม  เช่นการปลูกพืชหลากหลายชนิดเพื่อเป็นอาหารของเจ้าควายและได้ทดลองทดลองพันธุ์ไม้  และข้าพเจ้าก็เกิดความคิดว่าถ้าได้มีการพัฒนาในเชิงท่องเที่ยวก็น่าจะทำได้โดยจัดให้เป็นสถานีต่าง ๆ เช่น  สถานีรีดนม  สถานีทำผลิตภัณฑ์จากนม  สถานีผลิตอาหารควาย เป็นต้น โดยพาหนะสำคัญที่จะใช้พานักท่องเที่ยวชมสถานีต่าง ๆ คือเกวียนที่ใช้ควายลากจูงเท่านั้น

          เช้าวันที่สองนี้เราก็ได้รับประทานอาหารเชิงเพื่อสุขภาพอีก  ประกอบด้วยนมวัว น้ำเวย์โปรตีนจากนม  ไข่ลวก และชีช  ตามด้วยข้าวมันไก่และเครื่องใน  เมนูทั้งหมดนี้เน้นที่คุณค่าทางสารอาหาร  และทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกได้ถึงความอร่อยของชีชสดๆ และไข่ลวกที่อร่อยแบบธรรมชาติไม่ต้องมีการปรุงรสใด ๆ  เช้านี้ข้าพเจ้าเห็นเดินออกกำลังกายแต่ในท่วงท่าที่ดูสงบเย็นแบบเดินจงกรม  หลังอาหารเข้าเรามีการสนทนาเพื่อสรุป    ประเด็นหลักก็คือชีวิตของคนเราสามารถเปรียบเทียบได้กับบัวว่าจะเป็นบัวอยู่ใต้ตรม  อยู่ใต้น้ำ  อยู่ปริ่มน้ำ  หรืออยู่พ้นน้ำ  ขึ้นอยู่กับว่าเราจะประพฤติตนอย่างไร  โง่เง่าเต่าตุ่น  หรือใช้สติปัญญา  และอาจารย์ได้ตั้งคำถามให้ช่วยกันหาคำตอบว่าทำไมดอกบัวจึงเป็นสัญลักษณ์ของพุทธศาสนา   สุดท้ายก็ได้ข้อคำตอบว่าเพราะดอกบัวแตกต้นมาจากรากเหง่า  เติบโตผ่านโคลนตรม  พ้นจากปากเต่า กุ้ง หอย ปู ปลา  ชูขึ้นมาบานอยู่เหนือน้ำ  มีกลีบ เกสร และเมล็ด  แล้วก็เหี่ยวแห้งไป  เหมือนการนิพพาน    ข้าพเจ้ามีความคิดเห็นเพิ่มเติมว่าการแพร่ขยายของไหลบัวเปรียบได้ดับการเผยแพร่ศาสนา  จะต้องมีภาวะหรือสภาพที่เหมาะสมจึงจะเกิดเป็นต้นและดอกได้   แต่ข้าพเจ้าคิดว่าบัวก็คือบัว  บัวมีธรรมชาติของบัวอย่าไปพยายามทำบัวให้เป็นอะไร  และก็อย่าพยายามทำอะไรให้เป็นบัว    พอจบเรื่องบัวก็เป็นเวลาสาย ๆ เราก็แยกย้ายกันไปเตรียมตัวเดินทางกลับ  อาจารย์ก็แยกไปถ่ายรูปกับควายโคลนนิ่งตัวแรก  และกลุ่มเราก็ได้ถ่ายรูปร่วมกันกับอาจารย์

          หนึ่งเดือนต่อมาข้าพเจ้าก็ยังเป็นนักเรียนที่ไม่ตั้งใจเรียนเท่าไร  เพราะไม่ค่อยได้ทำภาคปฏิบัติคือเรียนธัมม์  แต่ก็พยายามคิดตามว่าเราจะมีชีวิตอย่างไร

         2  มิถุนายน  2555   ข้าพเจ้าตื่นมาตอนเช้ามืดประมาณตีห้า  พอลืมตาก็เห็นว่าอ๋อนี่ไม่ใช่บ้านเราแต่เป็นที่บ้านของพ่อภรรยาหรือพ่อตา  หูก็แว่วเสียงไก่ขัน  เสียงเพลงเก่า ๆ เสียงรถ  เสียงวิทยุ  เสียงคนประกอบอาหาร  ทำให้นอนต่อไม่หลับ  ก็เลยนอนวิปัสสนาด้วยการติดตามลมหายใจตัวเอง   ใจก็ลอยไปถึงเรื่องโรงเรียนชีวิตของอาจารย์มณีวรรณ  และทบทวนตัวเองดูว่าหลังจากไดเจอกับอาจารย์ที่มูร่าห์ฟาร์มก็ผ่านไปประมาณเดือนครึ่งเรามองเห็นชีวิตเป็นอย่างไร  ก็ได้เห็นว่าตนเองนึกถึงเรื่องการกินอยู่อย่างพอดีและเป็นประโยชน์สูงสุดมากขึ้น  เวลาทานอาหารก็จะคิดว่ามันเป็นประโยชน์กับเราแค่ไหน  เรากินมันเพื่ออะไร  และได้เล่าให้คนอื่น ๆ ฟังว่าเราได้รับประสบการณ์อะไรมาบ้างเกี่ยวกับการเลือกอาหารรับประทาน  ก่อนหน้านี้ข้าพเจ้าก็เลือกปฏิบัติตามแนวทางที่เรียกว่าแมคโครไบโอติคอยู่แล้ว  คือทานอาหารจากธรรมชาติอย่างธรรมชาติ  แต่ก็สามารถทำได้ระดับหนึ่งเท่านั้นเนื่องจากมีข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น  ไม่สามารถปลูกพืชผัก  และเลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ไว้ทานเองได้  ที่ทำได้คือพยายามหลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป  และเลิกใช้เตาไมโครเวฟประกอบอาหาร  เพื่อทำให้กระบวนการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอาหารของเซลร่างกายเป็นไปตามธรรมชาติมากที่สุดและไม่เกิดพิษ  แล้วสุดท้ายสุขภาพของเราก็จะแข็งแรงแบบยั่งยืนได้เองจากภายใน   อีกเรื่องหนึ่งเรื่องของอารมณ์ที่นิ่งขึ้น  ได้แนวมาจากอาจารย์ไพโรจน์เหมือนกันว่าคนเราสามารถปฏิบัติได้ตลอดเวลาด้วยการกำหนดลมหายใจ  แต่ข้าพเจ้าไม่ได้ปฏิบัติเหมือนกับอาจารย์ไพโรจน์ที่มีการกำหนดระยะเวลาในการหายใจให้ยาว  ข้าพเจ้าทำได้เพียงการเฝ้าติดตามการหายใจของตนเอง   ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมาข้าพเจ้ามีประเด็นทางการปฏิบัติหรือเกี่ยวกับศาสนาพูดคุยแลกเปลี่ยนกับเพื่อนร่วมงานระหว่างมื้อกลางวันอยู่บ่อย ๆ   ได้ติดตามรายการ “พื้นที่ชีวิต”  ของวรรณสิงห์  ประเสริฐกุล  ซึ่งเป็นรายการเกี่ยวกับปรัชญาชีวิต  โดยที่ข้าพเจ้ารู้จักรายการนี้จากอาจารย์มณีวรรณเมื่อสองสามปีก่อน  และก็ได้อ่านหนังสือจากกัลยาณมิตร  อย่างเช่น เรื่อง  “๑ พระอาจารย์ ๙มารร้าย  ปิดอบายใน ๑ พรรษา”  ของพระอาจารย์  นวลจันทร์  กิตติปัญโญ    และข้าพเจ้าได้ฟังบรรยายเรื่อง “จะพัฒนาตนเองอย่างไร ให้มีความสุขในการทำงาน”  โดยนายแพทย์ไพบูลย์  ศรีแก้ว  ซึ่งก็เน้นที่การใช้ปัญญาในการคิดและปรับใจให้รู้ความจริง     สิ่งเหล่านี้ช่วยกระตุ้นให้ข้าพเจ้าหันมามองจิตใจตนเองมากขึ้น  และเริ่มจะเกิดแนวคิดว่าข้าพเจ้าน่าจะทำให้ชีวิตของข้าพเจ้าให้เกิดความสมดุลได้ด้วยการปรับที่ใจ  ซึ่งมันจะส่งผลต่อพฤติกรรมและการแสดงออกของข้าพเจ้าต่อไป  แล้วสุดท้ายก็น่าจะส่งผลต่อทุกสิ่งที่แวดล้อมตัวข้าพเจ้า    และน่าจะเป็นทางที่ดี  แต่สุดท้ายข้าพเจ้าก็ยังคงไม่เข้าใจว่าสิ่งที่ข้าพเจ้าทำนี้เกี่ยวข้องกับโรงเรียนชีวิตหรือไม่

     วันที่ 1 สิงหาคม  2555 ผมเตรียมตัวเดินทางไปที่นครสวรรค์จังหวัดบ้านเกิดเพราะเป็นวันหยุดยาว  วันพฤหัสบดีเป็นวันอาสาฬหบูชาวันศุกร์ก็เป็นวันเข้าพรรษาต่อด้วยวันหยุดเสาร์อาทิตย์รวมสี่วัน  ขณะเวลาเดียวกันก็กำลังแข่งขันกีฬาโอลิมปิกลอนดอนเกมส์กันอย่างเข้มข้น  ผมเกิดคำถามในใจว่ากีฬาแห่งมวลมนุษยชาตินี้เราจะชิงดีชิงเด่นกันไปเพื่ออะไร  ทำไมต้องหาคนที่เร็วที่สุด คนที่แข็งแรงที่สุด  คนที่มีทักษะทางการเคลื่อนไหวดีที่สุด  ถ้ามองแค่ตัวคนผู้แข่งขันและทีมงานนั้น ๆ มันเกินสมดุลเกิดแนวคิดสุดโต่งหรือไม่  มันปลูกฝังว่าถ้าจะทำอะไรต้องทำให้ดีที่สุดหรือไม่  มันคงจะดีถ้าการกระทำนั้นมันคือทำดีสีขาว  แต่อีกมุมหนึ่งของการต้องดีสุดโต่ง  มันก็คือการเร่งเผาผลาญโลกนั่นเอง  เพราะถ้าเราต้องใช้แต่ของดี ๆ แสวงหาแต่สิ่งที่เราคิดว่าดี   ไม่ดีโยนทิ้ง  หรือไม่ดีพอก็ใช้ไม่ได้  อย่างนี้โลกก็แย่แน่ ๆ ถ้าคนส่วนใหญ่บนโลกมีแนวคิดนี้ในการดำเนินชีวิต  แล้วความสมดุลมันอยู่ตรงไหน  ข้อนี้ผมยังคิดไม่ออก  ซึ่งก็คงจะสอดคล้องกับแนวคิดของอาจารย์มณีวรรณว่าเราจะกินอาหารอย่างไรให้มันมีอาหารเปี่ยมคุณภาพพอเลี้ยงคนทั้งโลก  เราคงต้องมองอีกมุมหนึ่งของความเป็นที่สุดนั่นคือทำให้มีคุณภาพดีที่สุด

                                           *******************************************************************************************

วันพฤหัสบดีที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2555




พ่อเมศพ่อมหัศจรรย์ของฟ้าใส



1.  รับลูกมาอยู่ด้วย

2   ลูกติดเอว

3.  ลูกร้องตาม

4.  พาลูกไปโรงเรียน

5.  ฟ้าผ่าในรถ

6.  เวลาแปดนาฬิกา

7.  สิ่งที่พ่อรู้และสิ่งที่พ่อทำ

8.  อยากแบ่งปัน

9.  อย่าตีลูก

10. สิ่งที่ควรจะเป็น







คำนำ

            ผมเขียนเรื่องนี้โดยมีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อต้องการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของตนเองให้กับคนอื่นที่อาจมีความคล้ายกัน ที่ต้องจัดการกับชีวิตในบางเรื่อง  จะได้เกิดการเรียนรู้ทางลัดและนำไปปรับใช้ได้  โดยไม่ต้องปล่อยหรือรอให้มันเกิดกับตนเอง เพราะบางเหตุการณ์ถ้าหลีกเลี่ยงได้ ไม่ปล่อยให้มันเกิดก็น่าจะดีกว่า โดยระลึกถึงเหตุการณ์ของผมที่จะเล่าสู่กันต่อไปนี้เป็นตัวอย่าง  งานเขียนนี้ไม่เน้นสำนวนแบบงานเขียน  ไม่มีคำที่ยืดยาวหรืออารัมภบทอะไรมากมาย  หยิบยกมาแต่แก่นสำคัญที่อยากจะชี้ให้เห็น   อาจจะอ่านไม่สนุกและเพลิดเพลิน แต่ต้องใช้สมาธิที่จะเข้าใจมาก  เพราะจะเขียนเนื้อหาเข้าถึงสาระสำคัญเร็วและตรงเลย  

         ผมไม่ได้ต้องการมุ่งจะบอกว่าผมจัดการได้ดีอย่างไร  แต่ผมเสียใจกับการกระทำหรือแสดงพฤติกรรมที่ไม่ดี ที่ผมไม่ควรจะทำแต่ก็ทำไปแล้ว  และอยากให้คนอื่นได้อ่านเพื่อเป็นสิ่งเตือนใจเมื่ออยู่ในสถานการณ์คล้ายกัน
 แต่ละคนถูกเลี้ยงมาแตกต่างกัน  ในวันเด็กเราซึมซับสิ่งที่พ่อแม่กระทำต่อเรามาโดยที่ไม่รู้ตัว   จากการได้ซักถามพูดคุยกับหลาย ๆ คนเรื่องการเลี้ยงดูลูกมักจะถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น  ถ้าพ่อแม่ถูกเลี้ยงมาด้วยวิธีเดียวกัน เช่น ไม่ใช้ความรุนแรงหรือตีลูกเลย  ลูกของเขาก็จะไม่โดนตีเลย  ถ้าพ่อถูกเลี้ยงแบบไม่โดนตี  แต่แม่ถูกเลี้ยงมาแบบโดนตี  ลูกก็มีโอกาสที่จะโดนแม่ตี(ผมไม่ได้สืบค้นว่ามีการศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังหรือยัง)  ผมอยู่ในกลุ่มที่ถูกเลี้ยงมาแบบโดนตี  แต่ไม่ต้องการใช้วิธีนี้กับลูกจึงทำให้ผมมีปัญหาเวลาที่ไม่สามารถควบคุมสิ่งที่ถูกฝังอยู่ในตัวตนได้   และผมก็เป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง  เหมือนอย่างที่คนส่วนใหญ่เป็น  แล้ววันหนึ่งก็มีเหตุการณ์ที่สะท้อนให้เราต้องทบทวนตัวเอง  มันเหมือนเรียกสติเรากลับมา  ให้เราพิจารณาว่าเราควรทำอะไร อย่างไร  ถ้าเราต้องการให้เกิดสิ่งดี  เราจะจัดการสิ่งร้ายอย่างไร  เมื่อลูกสาวผมทำให้ผมรู้สึกได้ว่าเขาเป็นเด็กหญิงมหัศจรรย์ที่การเกิดมาของเขา  สามารถเปลี่ยนแปลงหลายสิ่งหลายอย่างรอบตัวได้   ผมก็อยากจะเป็นพ่อมหัศจรรย์ของลูก  ที่สามารถเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ อย่างรอบตัวได้เช่นกัน  ด้วยเรื่องราวต่อไปนี้



                                                                   ราเมศร์  เรืองอยู่

                                                               พ่อเมศ..พ่อจ๋าของฟ้าใส

       

1.  รับลูกมาอยู่ด้วย

    

        ผมเป็นพ่ออีกคนที่ต้องเลือกวิธีทิ้งลูกไว้กับคนเฒ่าคนแก่ที่ต่างจังหวัด   เหตุผลของผมคือไม่สามารถอยู่กันสามคนพ่อแม่ลูกได้  เมื่อพ่อแม่ต้องแยกกันไปทำงานแล้วเจ้าตัวเล็กจะอยู่กับใคร  จ้างเขาเลี้ยงนะหรือ  คำตอบเดียวคือไม่วางใจ   จะเอาตาหรือยายมาเลี้ยงก็ไม่อยากทรมานคนแก่ที่คุ้นเคยกับวิถีชิวิตแบบต่างจังหวัด  แล้วต้องมานั่งอุดอู้อยู่ในบ้านที่มีลักษณะเป็นซอง ๆ อย่างทาวน์เฮ้าท์หลังเล็ก ๆ กับคนข้างบ้านที่ไม่คุ้นเคย  ผมยอมแลกเหตุผลนี้กับความคิดถึง  ความห่างเหิน  และสิ่งที่จะต้องสูญเสียอีกหลาย ๆ อย่าง  ที่ประมาณค่าไม่ได้เพราะมันเป็นเรื่องของความรู้สึกและหัวใจ   แต่ในใจคิดตลอดเวลาว่าอยากรับลูกมาอยู่ด้วยกัน  แล้ววันหนึ่งเมื่อลูกอายุใกล้สามขวบสามารถเข้าเตรียมอนุบาลได้แล้ว  เราก็มีเหตุผลพอที่จะไปพรากหลานรักออกมาจากอกยาย   งานนี้ไม่มีใครรู้สึกแฮบปี้แม้แต่คนเดียว  แต่มันก็เป็นวิถีที่ต้องเลือกเพื่อวางพื้นฐานชีวิตที่คิดว่าดีให้ลูกน้อย   สิ่งที่ผมอยากจะบอกในตอนนี้ก็คือ  ถ้าเป็นไปได้จัดครอบครัวให้ได้อยู่พร้อมกันพ่อแม่ลูกตั้งแต่แรกเถอะ  และจะดีมากขึ้นอีกถ้ามีปูย่าตายายมาอยู่ด้วย     เมื่อผมรับลูกมาอยู่ด้วยแต่ตายายไม่ได้ตามมาเลี้ยง  ผมจึงต้องลำดับความสำคัญของเวลาใหม่  และเลือกที่จะให้เวลาแก่ลูกให้มากที่สุด   ผมอยากเลี้ยงลูกด้วยเวลามากกว่าใช้เงินทองเลี้ยง   ผมจึงต้องปรับการดำรงชีวิตใหม่ด้วยการทำงานน้อยลง  เพื่อเอาเวลามาอยู่กับลูก  ยอมสูญเสียรายได้จากการทำงานเสริมแล้วหันมาใช้ชีวิตแบบพอเพียง   เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกมีภาวะจิตใจที่เข้มแข็งสมบูรณ์พร้อมเผชิญโลกกว้างในอนาคต   และหวังลึก ๆว่า เมื่อถึงเวลาในอนาคตลูกคงไม่ดูแลเรายามชราภาพด้วยเงินเช่นกัน

 

 

2   ลูกติดเอว

 

        ด้วยสภาพวิถีชีวิตที่ผมมีเวลาอยู่ที่บ้านมากกว่าภรรยาที่ต้องออกไปทำงานตั้งแต่เช้ามืดและกลับถึงบ้านจนเย็นค่ำ  ทำให้เกือบตลอดเวลาที่ผมอยู่บ้านจะมีลูกติดอยู่ที่เอว  ดูเขาจะมีความสุขที่ได้เกาะอยู่บนเอวของพ่อ  ไม่ว่าผมจะทำอะไรก็ตาม  ถ้าผมวางเขาลงผมก็จะเห็นเด็กสูงเหนือเข่าผมเล็กน้อยยืนชูมือสองข้างและขยับขาทั้งสองด้วยไปมา  พร้อมกับพูดแบบงอนง้อว่า  “พ่ออุ้ม ๆ”   วิธีคิดของผมคืออุ้มก็ได้เพราะอีกหน่อยเขาโตขึ้นผมก็อุ้มไม่ไหวแล้ว  เด็กคงต้องการการรับสัมผัสและความมั่นใจ  และต้องการที่จะเห็นโลกในมุมมองเดียวกับผมด้วยระดับสายตาที่สูงพอกัน

       แต่อะไรก็ตามที่มันขาดสมดุลหรือมากเกินไปย่อมไม่เป็นผลดี  ผมมีวิธีคิดที่จะอุ้มลูกอย่างมีความสุข  แต่เมื่อต้องอุ้มลูกทำกับข้าวในเวลาที่เร่งรีบตอนเช้า  เวลาเอาเสื้อผ้าใส่เครื่องซักผ้าและเอาออกตาก  เวลากวาดถูบ้าน และเวลาดื่มกาแฟที่ผมต้องการผ่อนคลายและปล่อยอารมณ์ไปกับกลิ่นหอมกรุ่น    คำถามว่า “ทำไม?”มันก็เกิดขึ้น  ผมใช้วิธีปล่อยให้เวลามันผ่านไปก่อนพร้อมกับคำถามว่า “ทำไม?”  แล้วสุดท้ายผมก็ได้คำตอบเดิม ๆ คือ “เพราะเขาเป็นลูกของเรา”  และเมื่อนั้นผมก็จะหมดคำถาม

 

 

 

 

3.  ลูกร้องตาม

 

              ตอนที่ผมรับลูกมาอยู่ด้วยนั้นเขาอายุเพิ่งจะสองขวบกว่า ๆ จึงยังไม่ได้พาไปเข้าเรียน  รอให้ทางโรงเรียนเปิดรับเด็กเล็กชั้นเตรียมอนุบาลก่อน  จึงต้องให้คุณตามาอยู่ด้วยเพื่อช่วยเลี้ยงหลานเวลาที่ผมและภรรยาไปทำงาน   ชีวิตประจำวันของผมก็คือตอนเช้าเมื่อลูกตื่นมา  เขาก็จะเจอพ่อกับคุณตาเพราะแม่ไปทำงานตั้งแต่เช้ามืดแล้ว  แต่ลูกก็จะเลือกที่จะอยู่กับผมไม่ยอมอยู่กับคุณตา จึงเป็นที่มาของการที่ต้องมีลูกติดเอวตลอดเวลาในการทำงานบ้าน หรือเวลาที่ต้องเตรียมอาหาร   มีอีกช่วงเวลาหนึ่งที่ทำให้ผมเห็นภาพอยู่ในความทรงจำตลอด  คือเวลาที่ผมไปทำงานแล้วลูกยืนเกาะประตูร้องให้ตาม พร้อมกับตะโกนเรียก “พ่อจ๋า ๆ ”  มันยิ่งใหญ่สำหรับผมผู้เป็นพ่อที่เหมือนกับต้องฝืนใจพลัดพรากลาจากคนที่เรารักที่สุด  ถึงแม้จะต้องจากกันเพียงชั่วไม่กี่ชั่วโมง  แต่ ณ ขณะเวลาที่เหลือบไม่มองลูกยืนร้องให้อยู่นั้นมันทรมานเหมือนต้องจากกันแรมปี  ผมได้รับความรู้เพิ่มเติมในภายหลังว่าเด็กเล็กจะยังไม่สามารถกะระยะเวลาได้ว่าที่พ่อบอกว่า “เดี๋ยวตอนเย็นพ่อก็กลับมาแล้ว” นั้นมันนานขนาดไหน  ลูกเขาไม่รู้หรอกว่าเราจะกลับมาเมื่อไหร่  ลูกจึงกลัวว่าเราจะไม่กลับมาอีก   เมื่อใกล้ถึงเวลาที่ผมจะต้องออกไปทำงานคุณตาจึงใช้วิธีแยกลูกออกไปจากผมแล้วพาไปขี่จักรยานเล่นนอกบ้าน หรือพาไปสนามเด็กเล่น  มันช่วย

ไม่ให้เกิดโศกนาฏกรรมแห่งการพลัดพรากได้  แต่มันก็เกิดความรู้สึกทีแย่อีกอย่างหนึ่ง  คือลูกกลับเข้าบ้านแล้วหาพ่อไม่เจอก็จะร้องให้หาพ่ออีกว่าพ่อหายไปไหน   ซึ่งสิ่งที่ผมอยากให้มันเป็นก็คือก่อนผมออกไปทำงานผมเข้ามาอุ้มลูกหอมแก้มทั้งสองข้างแล้วบอกว่า “พ่อไปทำงานก่อนนะลูก  เดี๋ยวตอนเย็นเจอกันนะ”  แล้วผมก็ขับรถออกไปพร้อมกับลดกระจกมาโบกมือบ้ายบายกับลูกที่ยิ้มและโบกมือพร้อมส่งจูบให้ผมเช่นกัน   ผมอยากให้ลูกได้เห็นความจริง  ผมจึงบอกคุณตาว่าไม่ต้องพาลูกหนีไปไหนเวลาที่ผมจะออกไปทำงาน  และผมก็ทำอย่างที่ผมอยากให้มันเป็นแต่ต่างกันตรงที่เวลาที่ผมโบกมือบ้ายบายลูกร้องให้และตะโกนว่า “พ่อจ๋า ๆ”  ไม่ได้โบกมือแล้วส่งจูบอย่างที่อยากให้เป็น

 

 

4.  พาลูกไปโรงเรียน

 

          เมื่ออายุของลูกเกือบครบสามขวบ  เราก็พาลูกไปสมัครเข้าเรียนชั้นเด็กเล็กเตรียมอนุบาลที่โรงเรียนเอกชนใกล้ ๆ บ้านและใกล้ที่ทำงานของผม   เหตุผลที่เลือกโรงเรียนนี้เพราะอยู่ใกล้ที่สุด   ผมไม่อยากเห็นภาพตัวเองและลูกต้องตื่นแต่เช้าแล้วโกลาหลอยู่บนถนนที่จะไปโรงเรียน   อยากให้ลูกได้พักผ่อนได้เต็มที่ เพราะครอบครัวเราไม่สามารถนอนตั้งแต่หัวค่ำได้เนื่องจากภรรยาผมต้องทำงานนอกเวลา ผมกับลูกต้องไปรอรับกว่าจะกลับเข้าบ้านก็สามทุ่มกว่าแล้ว   เราจึงได้นอนกันตอนสี่ทุ่มกว่า ๆ  

     ก่อนจะให้ลูกเข้าโรงเรียน  เราใช้วิธีพูดเชิงบวกอยู่ประมาณหนึ่งเดือนว่าการไปโรงเรียนดีอย่างไร เช่น  ลูกจะได้แต่งชุดนักเรียนน่ารัก ๆ เหมือนพี่คนนั้นคนนี้(คนที่เป็นไอดอลของเขา)   จะได้เจอเพื่อนและเจอคุณครูที่เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ที่เป็นด้านดีทั้งหมด  พาไปซื้อชุด  พาไปดูโรงเรียน บอกกับญาติพี่น้องเพื่อให้ลูกได้ยินคำว่า “จะได้ไปโรงเรียนแล้วเหรอ”  แล้วรู้สึกว่าการไปโรงเรียนมันเป็นเรื่องพิเศษสำคัญสำหรับเขา

      เมื่อถึงวันแรกที่ต้องไปโรงเรียนจริง ๆ ก็เป็นไปอย่างที่เราต้องการคือลูกตื่นเต้นดีใจที่จะได้ไปโรงเรียน  รีบแต่งตัวโดยที่ไม่มีอาการอิดออดเลย  เมื่อไปถึงโรงเรียนผมก็กอดเขาแล้วบอกว่าเดี๋ยวตอนเย็นพ่อจะมารับกลับบ้านนะเนื่องจากเป็นวันแรก ๆ คุณครูก็ขอให้ผู้ปกครองมารับเร็วกว่าปกติหน่อย  เราก็ไปรับเขาตรงเวลาทุกวันเพื่อให้เขามั่นใจว่าจะมีคนมารับเขากลับบ้านอย่างนี้ทุกวัน  อย่างที่ผมได้บอกไปแล้วว่าเด็ก ๆ จะยังไม่สามารถกะระเวลาได้  เขาจึงกลัวการพลัดพราก  เขาไม่รู้ว่าอีกนานเท่าไรเขาจะได้เจอกับพ่อแม่อีก   ผมคิดว่าด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดโศกนาฏกรรมเล็ก ๆ ที่หน้าโรงเรียนทุกวัน  เสียงร้องกระจองอแง กับภาพพ่อแม่ยืนเกาะรั้วคอยดูลูกร้องด้วยตาละห้อยก่อนที่จะตัดใจทิ้งลูกไว้กลับคุณครูแล้วรีบเดินออกมาพร้อมกับปาดน้ำตาไปด้วย   พ่อแม่บางคนใจอ่อนก็ต้องสละเวลาอยู่เป็นเพื่อนลูกที่โรงเรียนซึ่งสุดท้ายก็ไม่พ้นชะตากรรมเดียวกัน  มันเป็นประสบการณ์แห่งความทรงจำสำหรับเด็ก  ซึ่งตัวผมเองก็ยังจำติดจาจนถึงบัดนี้ว่าเมื่อตอนเด็ก ๆ คุณแม่ผมต้องไปนั่งเฝ้าผมอยู่เป็นเดือนเหมือนกัน  พอเผลอหันกลับไปอีกทีแม่หายไปแล้วผมก็ได้แต่นั่งร้องไห้ไม่เป็นอันเรียนหนังสือ   และก็ไม่อยากให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นกับลูกของตัวเอง  จึงใช้วิธีตามที่บอกไว้  อาทิตย์แรกเป็นไปตามที่คาดหวังแต่พออาทิตย์ที่สองลูกคงจะเห็นแล้วว่ามันไม่ได้ดีเลิศตามที่พ่อแม่พูดไว้ก่อนหน้านี้  ลูกเริ่มอิดออดไม่ยอมแต่งตัว  บางวันไปถึงโรงเรียนนั่งร้องไห้ไม่ยอมลงจากรถต้องกอดและปลอบกันอยู่พักใหญ่จึงยอม    และจากการที่ลูกอิดออดไม่

กระตือรือร้นที่จะไปโรงเรียน  มันทำให้เกิดเรื่องร้ายๆ ระหว่างพ่อลูกที่ผมอยากจะเล่าให้ฟังเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในตอนต่อไป

 

 

5.  ฟ้าผ่าในรถ

 

         หลังจากลูกได้เข้าเรียนได้ประมาณหนึ่งปี  เหตุการณ์เลวร้ายก็เริ่มเกิด  บางวันระหว่างการเดินทางไปส่งลูกที่โรงเรียนจะเกิดเหตุการณ์ที่เลวร้ายระหว่างลูกกับผม  เมื่อผมมีอาการหงุดหงิดจนถึงขีดสุดที่ไม่สามารถยับยั้งตนเองได้  ผมจะตะโกนเสียงดังมากใส่ลูกยังกับเสียงฟ้าผ่าจนเขาตกใจ   ผมไม่ได้ใช้วาจาหยาบคาย  แต่มันเป็นการบ่นที่ใช้ระดับเสียงดังมาก ๆ ถึงสาเหตุที่ทำให้ผมไปไม่ทันเวลาทำงาน   มันไม่เป็นไปตามเวลาที่ผมประมาณการณ์ไว้เนื่องจากอิดออดในการอาบน้ำ ดื่มนม  กินข้าว  ต้องพูดกับลูกหลายรอบมากเพื่อให้เขาลงมือทำอย่างใดอย่างหนึ่ง  จนผมต้องตั้งชื่อประชดเขาว่าน้องลีลาวดี  ซึ่งพอเขาเข้าใจความหมายมันจึงเป็นชื่อที่เขาไม่ชอบมาก ๆ เวลาที่ผมเรียกชื่อนี้กับเขาเขาจะมีปฏิกิริยาทันที   

         

สิ่งที่เตือนสติผมหลังจากเกิดเหตุการณ์ฟ้าผ่าในรถคือ อาการเจ็บเส้นเสียงขึ้นมาทันทีทันใด   มันทำให้ผมต้องหยุดและทบทวนตัวเองว่าไม่ควรทำอย่างนี้   แต่เหตุการณ์แบบนี้ไม่ได้เกิดแค่ครั้งเดียว  เมื่อผมมีสติผมก็พยายามหาสาเหตุ  และคิดว่าเกิดจากความเครียดสะสมของตัวเราเอง   จากภาวะบีบคั้นหลาย ๆ ด้าน

 

6.  เวลาแปดนาฬิกา

   

      จากเหตุการณ์ฟ้าผ่าในรถเพียงไม่กี่ครั้ง สิ่งที่ผมคาดไม่ถึงก็เกิดขึ้นคือ ลูกเขาโยงเสียงเพลงชาติไทยที่เปิดทางวิทยุกับเวลาที่เลวร้ายที่เกิดขึ้นในรถ  เมื่อวันหนึ่งขณะขับรถเข้าไปในซอยของโรงเรียนซึ่งเป็นเวลาแปดโมงเช้าพอดี เสียงเพลงชาติไทยจากวิทยุก็ดังขึ้น  ลูกสาวผมเอานิ้วมาอุดหูทั้งสองข้างทันที  มันสะท้อนใจผมมากเลยว่าผมได้ทำสิ่งที่ทำให้ลูกเกิดการฝังใจในทางที่เลวร้าย   ตั้งแต่วันนั้นผมก็ไม่เคยยกเรื่องเวลามาบ่นอีกเลย  และพยายามเชียร์ให้ลูกร้องเพลงชาติคลอไปกับวิทยุ  ซึ่งต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์กว่าลูกจะยอมร้องตาม  แต่ร้องแบบไม่อยากจะร้อง  และมันทำให้ผมเศร้าใจมากเมื่อนึกถึงตอนที่เขาหัดร้องเพลงชาติในขณะที่เขามีอายุประมาณสองขวบ มันเป็นเพลงชาติที่เขาร้องออกเสียงผิดเพี้ยน  แต่ทำนองถูกต้อง  และเป็นเพลงชาติที่ไพเราะที่สุดที่ผมเคยได้ยิน  และผมก็ได้เก็บเป็นคลิบเสียงเอาไว้ด้วย

 

7.  สิ่งที่พ่อรู้และสิ่งที่พ่อทำ

  

       ในบางครั้งเราก็รู้นะว่าการที่จะเป็นพ่อแม่ที่ดีนั้นต้องทำอย่างไร  แต่สุดท้ายด้วยหลาย ๆ ปัจจัยที่เป็นองค์ประกอบ  ทั้งปัจจัยภายนอกที่เป็นเหตุการณ์แวดล้อม  และปัจจัยภายในที่เป็นเรื่องความเครียด ความกดดัน ก็ทำให้เราไม่สามารถทำในสิ่งที่เรารู้ได้  กลับกลายเป็นการทำตามอารมณ์   ผมเชื่อว่าทุกคนมีความสามารถในการสะกดกั้นอารมณ์ได้ไม่เท่ากัน  แต่กับการเลี้ยงลูกผมอยากให้คุณฝึก  เพราะถ้าคุณได้ทำพฤติกรรมที่คุณรู้ว่ามันไม่ควรทำ  เช่นการกาวร้าวกับลูก  ยิ่งทำเยอะเท่าไหร่มันก็จะยิ่งฝังอยู่ในตัวลูกคุณมากเท่านั้น  ซึงตัวผมเองได้เห็นภาพสะท้อนจากการเล่นของลูก  เขาเล่นเปลี่ยนบทบาทจากลูกมาเป็นแม่และกำลังดุลูกที่ทำนิสัยไม่ดี  แต่ปรากฏว่าถ้อยคำที่ออกมานั้นมันเป็นคำพูดของเราชัด ๆ   ชัดเจนว่าเขาบันทึกไว้ในสาระบบความจำเรียบร้อยแล้ว  เพียงแต่รอว่าจะเอาออกมาใช้จริงเมื่อไหร่เท่านั้นเอง  และทำให้ผมเห็นชัดเจนเลยที่คนเขาพูดกันว่าการสอนเด็กจะเกิดผลเมื่อสอนด้วยการกระทำของพ่อแม่หรือผู้ใกล้ชิดมากกว่าการสอนด้วยคำพูด  ฉะนั้นถ้าเรารู้แล้วว่าควรทำอย่างไรแต่เราไม่ได้ทำ  หรือเราทำในสิ่งที่มันไม่ตรงกับที่เรารู้   เมื่อลูกของเราโตขึ้นเขาก็จะทำเหมือนอย่างที่เราทำนั่นแหละ

 

8.  อยากแบ่งปัน

         คนเราเกิดมามีบริบทของครอบครัวที่ต่างกัน  ถูกเลี้ยง  ถูกสั่งสอน  และถูกปลูกฝังมาต่างกัน  แต่ในที่สุดพวกเราก็ต้องมาอยู่ในสังคมเดียวกัน  มีกิจกรรมสังคมคล้าย ๆ กัน  จึงทำให้เกิดข้อแตกต่างอย่างมากมายของพฤติกรรมของคนในสังคมเดียวกัน  และก็จะเห็นได้ว่าเรามีพฤติกรรมที่สังคมยอมรับได้  และพฤติกรรมที่สังคมยอมรับไม่ได้  ซึ่งมันก็ทำให้เรารู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ควรทำ  อะไรคือสิ่งที่ไม่ควรทำ  สำหรับผมจึงอยากจะบอกเล่าแบ่งปันประสบการณ์ถึงสิ่งที่ผมไม่ควรทำ  แต่ได้ทำไปแล้ว  เพื่อให้เกิดสังคมใหม่ คือสังคมที่มีคนส่วนใหญ่ทำในสิ่งที่ควรทำ    ผมเชื่อว่าการแลกเปลี่ยนเรียนรู้สามารถพัฒนาตัวเราได้  ผมเองก็อาศัยการได้ยินได้ฟังเรื่องราวการเลี้ยงลูกจากหลาย ๆ คน  หลาย ๆ ครอบครัว  ชื่นชมพ่อแม่บางคนที่เลี้ยงลูกได้ดีมาก  และก็ใช้เป็นแรงบันดาลใจให้ตนเอง  ส่วนเรื่องเลวร้ายก็ใช้เตือนสติตัวเองว่าอย่าทำแบบนั้นเลย    อย่าทำเรื่องร้ายเหมือนกับที่ผมทำ

 

9.  อย่าตีลูก

               วันนี้ลูกผมอายุหกขวบกว่า ๆ แล้ว   เขายังมีความน่ารักสดใส  เริ่มดื้อตามประสาเด็กที่มีเหตุผลแบบเด็ก ๆ ยังชอบมานั่งบนตักผม  และผมก็มักจะผลักออกเพราะตัวเขาหนักแล้ว  แต่ส่วนมากจะยอมให้เขานั่งมากกว่าเพราะรู้ว่า  อีกไม่กี่ปีเขาก็โตเกินกว่าที่จะขอนั่งตักผมแล้ว  และทุกครั้งที่เห็นลูกสดใส  เริ่มโต เริ่มมีเหตุผล   ก็จะนึกย้อนไปว่าเมื่อตอนที่เขายังเล็กมาก ๆ ไม่มีเหตุผลใด ๆ นอกจากความไร้เดียงสา  ช่วงที่ลูกดื้อไม่ยอมแต่งตัวไปโรงเรียน  ผมเคยหงุดหงิดโมโหและก็ตีลูก   ผมตีลูกทำไม  ผมทำลงไปได้อย่างไร   ผมได้ปลูกฝังอะไรร้าย ๆ ให้กับลูกบ้าง  เพราะฉะนั้นขอให้พ่อแม่ตั้งสติเถอะครับ  พยายามควบคุมอารมณ์ของตนเองให้ได้    กลับมามองที่ตนเองก่อนที่จะลงโทษลูก  ว่าสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เกิดเรื่องร้าย ๆ จนต้องทำโทษนั้นเรามีส่วนเกี่ยวข้องอย่างไร  ตั้งสติคิดให้ดีจะเห็นว่าเรานี่แหละที่เป็นต้นเหตุ  อย่างน้อยก็คือเราดูแลเขาดีพอหรือยัง  อย่างมากก็คือเราบริหารจัดการตัวเองได้ดีพอหรือยัง

 

10. สิ่งที่ควรจะเป็น

 

       ในความคิดของผม  ผมก็ยังต้องการเพียงให้ลูกของผมเป็นเด็กหญิงธรรมดา ๆ คนหนึ่ง  ที่มีความมหัศจรรย์  ตรงที่เขาสามารถทำให้ผู้คนแวดล้อมได้คิด  ได้ทบทวน  ได้เรียนรู้  และได้มีความรู้สึกดี ๆ หรือ อยากจะทำสิ่งที่ดีกว่า  หรือสุดท้ายได้ทำสิ่งที่มันดีกว่า    อย่างน้อยคนแวดล้อมคนนั้นก็คือตัวผมเอง   และไปสู่คนอื่น ๆ ด้วยการแบ่งปันเรื่องราวไปจากผม   พ่อแม่แต่ละคนก็คงจะมีวิธีการจัดการกับการเลี้ยงลูกด้วยรูปแบบที่แตกต่างกันไปตามสภาวะแวดล้อมและปัจจัยภายนอกภายใน  แต่ถ้าเราลองถามตัวเองดูว่าเราให้ลูกเกิดมาทำไม? ....เราจะรู้สึกได้ถึงความรับผิดชอบต่อชีวิต      เราอยากให้ลูกเรามีนิสัยอย่างไร? ....และเรา อยากให้เขามีพฤติกรรมอย่างไร?.....เราจะเห็นว่าตัวพ่อแม่ที่เลี้ยงดูนี่แหละคือผู้ที่หล่อหลอมชีวิตลูก     ฉะนั้นสิ่งที่ควรจะเป็น  ก็ขึ้นอยู่กับพ่อแม่ว่าต้องการให้มันเป็นอย่างไร  แล้วก็ทำในสิ่งที่ควรจะทำ    ซึ่งสำหรับผมผู้เป็นพ่อธรรมดาๆ คนหนึ่ง  กำลังพยายามทำในสิ่งที่ควรทำ  และพบว่าเมื่อใช้สติ   สิ่งที่ต้องพยายามมันก็กลายเป็นเรื่องที่สามารถจัดการได้ง่าย ๆ  แต่สุดท้ายต้องไม่เอาตัวเองเป็นใหญ่นะครับ  เพราะเรื่องบางเรื่องมันเป็นเรื่องเล็ก ๆ ของพ่อ แต่เป็นเรื่องใหญ่ของลูก  เช่น  ฟันน้ำนมซี่แรก

ของลูกหักเราบอกกับลูกว่ามันเป็นเรื่องธรรมดานะลูก   แต่เมื่อได้เห็นอากัปกิริยาและพฤติกรรมของลูกสาวเมื่อฟันน้ำนมซี่แรกของเขาหัก  ผมจึงรู้ว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาที่ไม่ธรรมดาสำหรับเด็กเลยนะครับ     สุดท้ายจึงอยากบอกว่า  เมื่อเราเห็นว่าลูกคือแก้วตาดวงใจของเรา   เราก็ต้องมองให้เห็นเหมือนกันกับที่ลูกเห็น  และให้มีความรู้สึกเหมือนกันกับที่ลูกรู้สึกด้วยเช่นกัน