เทคนิคการพาผู้เป็นอัมพาตครึ่งซีกไปเที่ยวนอกสถานที่
ผู้ที่เป็นอัมพาตครึ่งซีกที่เกิดจากโรคหลอดเลือดสมองหรือจะเกิดจากสมองได้รับบาดเจ็บก็ตาม ควรได้ รับการส่งเสริมให้ได้ไปทำกิจกรรมนอกสถานที่เฉกเช่นคนปกติให้มากที่สุดตามสมรรถภาพ ในส่วนของงานกิจกรรมบำบัดนั้นนักกิจกรรมบำบัด มีบทบาทต่อการดำเนินชีวิตของผู้ที่เป็นอัมพาตครึ่งซีกด้วยการพัฒนาความสามารถ(Occupational Performance) ผ่านกิจกรรมหลักในแต่ละวัน (Occupations/activities of daily living) ได้แก่ กิจกรรมดูแลตนเอง (Self-care) กิจกรรมการทำงานหรือการเรียน (Work/education) กิจกรรมการเล่นและการใช้เวลาว่าง (Play and leisure) และกิจกรรมการพักผ่อน (Rest/sleep) โดยมีเป้าหมายเพื่อสุขภาวะที่ดี (Activity Participation & Well being)ในรูปแบบที่แตกต่างกันตามบริบทของชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมของคนนั้น ๆ (Societal and Environmental contexts) ฉะนั้นจึงขอนำเสนอเทคนิคการพาผู้เป็นอัมพาตครึ่งซีกไปเที่ยวนอกสถานที่ซึ่งถือเป็นกิจกรรมการดำเนินชีวิตที่จะแสดงถึงการมีสุขภาวะที่ดีของผู้ที่เป็นอัมพาตครึ่งซีก
1. การเตรียมตัวท่องเที่ยว
เตรียมของใช้ส่วนตัวที่จำเป็น รวมถึงยาประจำตัว ควรใส่เสื้อผ้าที่สวมสบาย เช่น การเกงแบบขอบยางยืด ผ้าอ้อมแบบสวม รถเข็น (ถึงแม้จะพอเดินได้ แต่ควรเตรียมไว้ในกรณีที่ต้องเดินรยะไกล ๆ) หากจะให้สะดวกมากขึ้นก็ควรเป็นรถเข็นรุ่นท่องเที่ยว ที่ออกแบบมาให้มีขนาดเล็กกะทัดรัด น้ำหนักเบา พับเก็บเป็นสัมภาระได้สะดวก
2. การเดินทาง
รถที่ใช้เป็นพาหนะที่สะดวกในการขึ้นลงควรเป็นประเภทเก๋ง หากสามารถยืนทรงตัวได้ดีก็สามารถขึ้นรถที่เบาะนั่งสูงกว่าได้ หากเป็นรถยนต์เก๋งแนะนำให้นั่งเบาะด้านหน้า เพราะกว้างกว่าจะสะดวกในการขึ้นลง สามารถปรับพื้นที่และพับเบาะเอนได้ หากเป็นการใช้ระบบสาธารณะ เช่น รถโดยสารประจำทาง รถไฟ เครื่องบิน ต้องตรวจสอบระบบบริการ ซึ่งปัญหาสำคัญคือการเข้าถึงห้องโดยสาร เช่น ตรวจสอบสายการบินว่ามีบริการสำหรับผู้พิการที่ใช้รถเข็นหรือไม่ ถ้าไม่มีเราสามารถแบกหามขึ้นไปเองได้หรือไม่ หากเป็นรถไฟตรวจสอบว่ามีขบวนที่มีประตูเทียบชานชาลาสำหรับผู้พิการหรือไม่ ส่วนรถโดยสารประจำทางในประเทศไทยยังไม่มีการติดตั้งระบบบริการสำหรับผู้พิการ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะพาผู้ที่เป็นอัมพาตครึ่งซีกใช้บริการสาธารณะไม่ได้ เพราะเราสามารถประคอง พยุง แบกหาม กันไปได้
3. การเข้าถึงสถานที่ท่องเที่ยวหรือที่พัก
ควรศึกษาหาข้อมูลของสถานที่ท่องเที่ยวหรือที่พักด้านสภาพแวดล้อมก่อน ว่ารองรับผู้พิการได้หรือไม่ เช่น การมีทางลาดสำหรับขึ้นต่างระดับ สภาพของห้องน้ำต้องไม่แคบเกินไป(ไม่น้อยกว่า 1.5 เมตร) มีโถนั่ง ไม่มีพื้นต่างระดับที่สูงเกินไป ถ้ามีเครื่องทำน้ำอุ่นก็จะดีสำหรับผู้ที่มีภาวะหดเกร็งกล้ามเนื้อรุนแรง โดยท่านสามารถค้นหาข้อมูลผ่านช่องทาง google ได้
4. การทำกิจกรรมระหว่างการท่องเที่ยว
รสนิยมในการท่องเที่ยวจะมีผลต่อรูปแบบของการท่องเที่ยว ซึ่งควรจะจัดให้ตรงกับความชอบของนักท่องเที่ยวให้มากที่สุด เช่น ชอบเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ ภูเขา น้ำตก ทะเล หรือบางท่านอาจชอบท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เข้าวัด ทำบุญ เดินตลาดชุมชน เป็นต้น สิ่งที่เราต้องคำนึงถึงก็คือสมรรถนะและความปลอดภัยของผู้ที่เป็นอัมพาตครึ่งซีกในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในระหว่างการเที่ยวนั้น ๆ ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมทางน้ำ และ กิจกรรมแอดเวนเจอร์