วันอาทิตย์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2555


ฟ้าใส
                 เด็กหญิงมหัศจรรย์ของพ่อ
<><>
<><>
<><> <><>
1.คุณย่าดูหมอ
2. ชนะคู่แข่ง
3. ความรักบริสุทธิ์
  4. เพื่อนแท้ของแม่
5. แม่เหล็กดูดคน
6. เชื่อมสัมพันธ์
7. พลังชีวิต
8. นับนิ้วรอวัน
9. เด็กหญิงธรรมดา

                                       




                                             บันทึกนำ
<><> <><> <><> <><>


         บันทึกฉบับนี้ ผมมีแรงบันดาลใจจากความรู้สึกดีๆ ที่เกิดขึ้นกับชีวิต  เมื่อเราได้สร้างอีกชีวิตหนึ่งให้เกิดขึ้นมา  มันเป็นเรื่องธรรมดาของสัตว์โลก และของมนุษย์ทั่วไป  แต่มันเป็นเรื่องใหญ่สำหรับชีวิตผม  และเชื่อว่ามันก็เป็นเรื่องใหญ่ของทุกชีวิตที่มีลูกเช่นกัน   ผมจึงอยากบันทึกไว้ให้เป็นความยิ่งใหญ่ส่วนตัว แต่ยินดีทีจะแบ่งปันความรู้สึกดีๆ ให้คนอื่นล่วงรู้ว่ามันเป็นอย่างไร   จึงบันทึกไว้แบบสั้น ๆ ในเรื่องหรือประเด็นที่เรารู้สึกได้อย่างชัดเจน ซึ่งในความเป็นจริงมันมีความรู้สึกดีๆเกิดขึ้นเกินพรรณนาในใจของเรา  จนทำให้ผมรู้สึกว่าลูกสาวของผมที่ชื่อว่าฟ้าใสเป็นเด็กหญิงมหัศจรรย์ของผม
                                                                      ราเมศร์  เรืองอยู่
                                              พ่อจ๋าของฟ้าใส


1.   คุณย่าดูหมอ    
<><> <><> <><> <><>



      หลังจากแต่งงานใหม่ ๆ แม่เล่าให้ผมฟังว่า  มีคนมาเร่ขายของที่บ้านแล้วดูหมอให้ตามดวงชะตาวันเกิดของผม  หมอดูบอกกับแม่ผมว่าลูกชายที่แต่งงานจะมีลูกตอนอายุสามสิบหก และบอกว่าเป็นคนดีมีบุญมาเกิด  ผมฟังแล้วก็เฉย ๆ ไม่ได้คิดอะไร  ตอนนั้นผมอายุสามสิบสาม  และคิดว่าจะไม่ปล่อยให้มีลูกเพราะไม่อยากเสี่ยงกับโรคเลือดจางทาลัสซีเมีย  เพราะผมกับภรรยาเป็นพาหะกันทั้งคู่   ต่อมาพออายุมากขึ้นผมกับภรรยาก็มาทบทวนความคิดกันใหม่และสุดท้ายก็ตกลงว่าจะปล่อยให้มีลูก  เพราะกลัวว่าถ้าตัดสินใจช้ากว่านี้จะหมดโอกาส  และจิตใจก็พร้อมที่จะเผชิญกับอะไรก็ได้ที่จะเกิดขึ้นกับลูก ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็จะเลี้ยงให้ดีตามกำลัง  ไม่คิดที่จะทำลาย   เมื่อผมอายุสามสิบหกกว่า ๆ  ภรรยาผมเริ่มตั้งครรภ์  ซึ่งตอนนั้นผมลืมเรื่องที่แม่ผมเคยดูหมอดูไปหมดแล้ว



2.  ชนะคู่แข่ง

<><> <><> <><> <><>
       เมื่อผลตรวจของภรรยายืนยันว่าตั้งครรภ์แน่นอน  ซึ่งตรวจพบการเต้นของหัวใจของเด็กในครรภ์  อีกประมาณหนึ่งเดือนต่อมาท้องของภรรยาผมก็โตขึ้นอย่างรวดเร็วพร้อมกับคลำได้เป็นก้อนกลม ๆ อยู่ทางด้านซ้ายของท้องน้อย    ก็สงสัยว่าทำไมลูกโตเร็วจังและทำไมไม่อยู่ตรงกลาง  ต่อมาจึงได้ไปทำอัลตร้าซาวด์  ก็พบว่าลูกของผมมีคู่แข่งซะแล้ว  เพราะพบว่ามีก้อนเนื้อที่มดลูกและมันกำลังโตขึ้นเรื่อยๆ คาดว่าน่าจะถูกกระตุ้นจากการตั้งครรภ์  คุณหมอก็ให้สังเกตดูการเจริญเติบโต และบอกว่าไม่แน่ใจว่าก้อนเนื้องอกนี้จะไปขัดขวางการเจริญเติบโตของเด็กหรือเปล่า   การลุ้นจึงมาตกอยู่ที่ผมและภรรยา  จนถึงประมาณเดือนที่หกเจ้าก้อนเนื้องอกมันก็คงที่ไม่โตขึ้น    ก็ทำให้เราสบายใจขึ้นเล็กน้อย  แต่ยังกังวลว่าจะมีปัญหาตอนคลอดหรือไม่  สุดท้ายก็มีปัญหาจริง ๆ เพราะใกล้ครบกำหนดคลอดแล้วลูกสาวผมยังไม่ยอมกลับหัวเลย  คุณหมอบอกว่าต้องผ่าออก   จึงกำหนดวันผ่าตามวันที่คุณหมอสะดวก  คือวันพุธที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2547

 3.   ความรักบริสุทธิ์
<><> <><> <><> <><>
 
     เมื่อถึงวันผ่าคลอดคุณหมอใช้วิธีบล๊อกหลัง  เมื่อออกจากห้องคลอดแล้วภรรยาก็บอกกับผมว่า " ลูกเราข้อเท้าบิด"  ภรรยาผมไม่ได้ถูกวางยาสลบจึงได้ยินเวลาทีมผ่าตัดคุยกันขณะทำการผ่า  จึงเล่าให้ผมฟังว่าได้ยินคุณหมอบอกว่าไม่เป็นไรหรอกเดี๋ยวส่งให้หมอกระดูกเด็กดู  ตอนนั้นผมบอกไม่ถูกว่ารู้สึกอย่างไร  ไม่มีความรู้สึกของความเสียใจ  แต่มีความรู้สึกว่ารักลูกมากขึ้นในทันที  คิดในใจว่าไม่ว่าลูกจะเป็นอย่างไรพ่อรักลูกมากที่สุด พ่อรับได้ในทุก ๆ แบบที่ลูกเป็น  แล้วผมก็เดินไปขอเยี่ยมลูกในช่วงเวลาที่เขาให้สิทธิ์เฉพาะผู้เป็นพ่อเท่านั้น  เห็นลูกนอนหลับยิ้มอยู่ที่มุมปาก  คุณพยาบาลอุ้มลูกพามาหาผม  ผมขอดูข้อเท้าลูกพร้อมกับได้สัมผัสลูกเป็นครั้งแรกด้วยการจับข้อเท้าลูกที่ผิดรูปลองจัดให้อยู่ในท่าปกติ  ผมสบายใจเมื่อเห็นว่าถ้าจับให้อยู่ในท่าปกติมันก็เหมือนเท้าปกติทั่วไป  อีกสี่วันต่อมาคุณหมอกระดูกก็เอาเฝือกปูนพันขาขวาของลูกไว้ยาวตั้งแต่ปลายเท้าจนถึงโคนขา  และนัดตัดเฝือกอีกหนึ่งเดือนข้างหน้า


4. เพื่อนแท้ของแม่

       ช่วงที่ภรรยาใกล้คลอด จะมีเพื่อนของเขาที่สนิทกันมาก ๆ คอยดูแลเป็นธุระจัดการเรื่องต่าง ๆ ให้  หลังจากคลอดแล้วก็จะมีเพื่อน ๆ แวะเวียนกันเข้ามาเยี่ยมมากมาย  ท่าทางและกริยาต่าง ๆ ที่เขาแสดงออกกับภรรยาและลูกของผม  ก็พอจะดูได้ว่าใครคือเพื่อนที่จริงใจมาก ๆ   ซึ่งแน่นอนว่าส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดทำให้รู้สึกซาบซึ้งใจในมิตรภาพอันงดงาม  และแสดงให้เห็นการยินดีต้อนรับมนุษย์ใหม่ตัวน้อย ๆ ของบรรดาเพื่อน ๆ
<><> <><> <><> <><>




<><> <><> <><> <><>
5.  แม่เหล็กดูดคน

       หลังจากลูกคลอดออกมา  ก็มีผู้คนมากมายมาเยี่ยมแสดงความยินดี  หลายคนเราก็ไม่คาดคิดว่าเขาจะมา แต่เขาก็มา บางคนอยู่ไกลมากก็ยังอุตส่าห์เดินทางมา  แปลว่าเขาให้ความสำคัญกับเรามาก  อันนี้เราก็รู้สึกได้ถึงความผูกพันธ์  และมิตรภาพ  แต่ละคนมาเยี่ยมก็จะหอบหิ้วของเยี่ยมเล็ก ๆ น้อยติดมือมาด้วย  ซึ่งส่วนมากเป็นของใช้สำหรับเด็ก  จนวันที่เรากลับมาบ้านต้องขนของเต็มรถเก๋ง  จัดวางอย่างดีที่ท้ายรถและล้นมาถึงเบาะหลังจนแทบไม่มีที่ให้คุณยายนั่ง  เมื่อมาอยู่ที่บ้านแล้วก็ยังมีญาติ เพื่อน ๆ และผู้ที่เคารพนับถือแวะเวียนมาเยี่ยมอยู่เสมอ  ยังซาบซึ้งใจทุกครั้งเมื่อนึกถึงสิ่งที่ทุกคนแสดงออกมาให้เห็น

6.  เชื่อมสัมพันธ์

      เพื่อนบ้านที่วัน ๆ เจอหน้ากันแต่ไม่มีการทักทายกัน  ก็เข้ามาทักทายกับลูกและก็เลยมาพูดคุยกับพ่อหรือแม่ที่อุ้มลูกอยู่ เกิดความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดมากขึ้น  บางคนเข้ามาเยี่ยมในบ้าน  เมื่อพาลูกออกมารับแสงหรือเดินเล่นก็จะได้เห็นแววตาที่เป็นมิตรของผู้คนที่มองมาที่ลูก  มันชัดเจนมากเลยว่าความบริสุทธิ์ของเด็กนั้นมีพลัง  ที่จะทำให้หัวใจของผู้คนที่พบเห็นอ่อนไหว  ปรับลดความแข็งกระด้างลง เกิดเป็นความอ่อนโยนในจิตใจ อยากทะนุถนอม ปกป้องดูแล  และเป็นมิตร  ซึ่งแม้ว่าเขาเหล่านั้นจะไม่ได้แสดงกิริยาที่ชัดเจนกับเรา แต่ก็สามารถเห็นได้ทางแววต




           7. พลังชีวิต
<><> <><> <><> <><>
   
      เมื่อมีสมาชิกใหม่เกิดขึ้นในครอบครัว  สัญชาติญาณของพ่อแม่คือจะปกป้องดูแลลูกให้ดีที่สุด  มันจะเกิดพลังขึ้นในใจให้เราต้องสู้ชีวิตและมุ่งมั่นที่จะสร้างอนาคตเพื่อรองรับการเติบโตและอนาคตของลูก  เมื่อนึกถึงลูกจะเกิดพลังที่จะต้านทานความอ่อนล้าในจิตใจได้  แม้ในช่วงที่ต้องประคบประหงม พ่อแม่ต้องอดหลับอดนอน คอยเปลี่ยนผ้าอ้อม ป้อนนม  อุ้มเมื่อร้องงอแงและผมต้องอุ้มและร้องเพลง “ลอยกระทง” คืนละหลายสิบรอบกว่าเขาจะหลับ  แม้จะเหนื่อยล้าทางกาย  แต่ในหัวใจมันยังมีพลังเต็มเปี่ยมที่จะดูแลลูก  และความเหนื่อยล้าทั้งหลายก็หายเป็นปลิดทิ้งเมื่อได้มาเล่นกับลูก  ได้เห็นรอยยิ้มอันสดใส และเสียงอ้อแอ้ของลูกที่พยายามจะคุยโต้ตอบกับเรา



8. นับนิ้วรอวัน
<><> <><> <><> <><>
   
       หลังจากเลี้ยงลูกเองได้สองเดือนกว่า ๆ   ลูกต้องไปอยู่กับคุณยายด้วยความจำเป็นทางสภาพของสังคม  คือคุณยายควรได้อยู่ตามสภาพแวดล้อมเดิมที่ต่างจังหวัด  ส่วนพ่อแม่ต้องทำงานที่เดิม  และทุกคนคิดเหมือนกันคือไม่อยากจ้างบุคคลอื่นมาเป็นคนเลี้ยงดูเด็ก  ความทรมานใจของพ่อแม่ก็เกิดขึ้นที่ต้องพลัดพรากจากดวงแก้วแสนรักที่เคยได้เล่นและชื่นชมทุกวี่วัน   ความเหนื่อยล้าจากการทำงานในแต่ละวันที่เคยจางหายในพริบตาเมื่อกลับมาเจอหน้าลูกที่บ้าน  ตอนนี้มันยังคงอยู่แถมต้องมาเจอความห่วงหาเมื่อกลับมาถึงบ้าน   สิ่งที่ทำก็คือนับนิ้วดูว่าอีกกี่วันจะถึงวันที่กำหนดว่าจะไปเยี่ยมหาลูก  ซึ่งเรากำหนดกันไว้ว่าจะกลับไปหาลูกกันเดือนละสองครั้ง  และอยู่กับลูกให้นานที่สุดก่อนที่จะขับรถกลับมาจากนครสวรรค์ถึงบ้านที่บางปูสมุทรปราการก็เกือบเที่ยงคืนทุกครั้ง   ตอนนั้นมีความรู้สึกว่าเวลาที่ได้อยู่กับลูกมีความสำคัญกว่าสิ่งใด ๆ  เทียบไม่ได้กับค่าน้ำมันรถที่เราต้องจ่ายและเวลาที่ต้องใช้เดินทาง

9.  เด็กหญิงธรรมดา

      เนื่องจากพ่อเป็นนักกิจกรรมบำบัด  ได้เรียนรู้ถึงพัฒนาการ และวิธีการกระตุ้นพัฒนาการในแต่ละด้าน  พ่อจึงเลือกทางสายกลางโดยพยายามให้ลูกได้รับสิ่งที่จะเสริมสร้างการเรียนรู้และพื้นฐานทางอารมณ์ พฤติกรรม และสังคม ด้วยการกระตุ้นการรับรู้ทางการมองเห็น การรับสัมผัส การได้ยิน การเคลื่อนไหวของข้อต่อต่าง ๆ อย่างพอเพียงและสมดุล ไม่มุ่งด้านใดด้านหนึ่งให้มากหรือน้อยจนเกินไป  และสอนให้ลูกเกิดการเรียนรู้จากการกระทำของตน  ลูกจะได้เล่นและทำในสิ่งที่ต้องการภายใต้การดูแล  เหตุนี้จึงเลี้ยงลูกอย่างเด็กธรรมดา ๆ คนหนึ่ง ด้วยหวังว่าเมื่อโตขึ้นลูกจะเป็นคนที่สามารถปรับตัวได้กับทุกภาวะที่เข้ามากระทบชีวิต
<><> <><> <><> <><>




                            ส่งท้าย....บทบันทึก

     การเลี้ยงลูกของผมนั้นมันไม่เป็นไปตามทฤษฎีที่อยากจะให้มันเป็น  เพราะจริง ๆ แล้วชีวิตมีองค์ประกอบหลายอย่างที่มีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตมาก  โดยเฉพาะเรื่องที่ใกล้ตัวเรามากที่สุดคือ  อารมณ์  ความรู้สึกนึกคิดของตัวเราเอง  รวมถึงอุปนิสัยพื้นฐานหรือสันดานที่มันเกาะติดตัวเรามาจนยากที่จะสลัดมันออก  จนทำให้ผมมีเรื่องที่อยากจะแบ่งปันประสบการณ์เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับทุกท่าน  เกี่ยวกับการเลี้ยงลูกของผม  และผมก็จะเขียนในตอนต่อไป
                
           ขอบคุณท่านที่อ่านบันทึกของผม  ผมเชื่อว่าคงจะมีความรู้สึกดีๆบางอย่างเกิดขึ้นในใจท่าน  นั่นแสดงว่าผมบรรลุวัตถุประสงค์ของผมแล้วครับ  หากท่านอยากแลกเปลี่ยนความคิดเห็นผมก็ยินดี กรุณาติดต่อตามที่อยู่ของจดหมายนี้นะครับ

                 
                                                                                
                               mesmengmeng@gmail.com



                                 

วันพุธที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2555



หลักการพิจารณาเลือกรถเข็น (Wheelchair)

                                                                        ราเมศร์  เรืองอยู่  

                                                                                                                 นักกิจกรรมบำบัด     




         การจัดหา Wheelchair  ให้กับผู้ป่วยนั้นจำเป็นต้องศึกษารายละเอียดในด้านต่าง เพื่อให้ได้ Wheelchair ที่มีความเหมาะสมและตรงกับความต้องการของผู้ป่วยมากที่สุด  โดยพิจารณาจากปัจจัยดังนี้

1.   ตัวผู้ป่วย ( Client ) 

               จะต้องพิจารณาว่าผู้ใช้นั้นมีสภาพโดยรวมเป็นอย่างไร ( Consumer  Profile )  โดยดูจาก

-        การวินิจฉัยโรค ( Diagnosis ) ว่าเป็นแบบชั่วคราว หรือถาวร

-        การพยากรณ์โรค ( Prognosis ) ว่าดีขึ้น คงที่ หรือ เสื่อมลง

-        ขนาด ( Size ) โดยวัดจากขนาดร่างกายของผู้ป่วย

-        น้ำหนัก ( Weight ) ซึ่งรถเข็นจะต้องสามารถรับน้ำหนักของผู้ป่วยได้

-        แรงจูงใจ ( Motivation ) โดยดูที่ทัศนคติของผู้ป่วยว่าคิดอย่างไรกับการที่จะต้องใช้รถเข็น

-        อายุ ( Age )

2.   ด้านกายภาพ ( Physical ) 

พิจารณาเกี่ยวกับสภาพร่างกายและทักษะด้านการรับรู้ ( Physical &Sensory skills ) โดยดูจาก

-        ความสามารถในการเคลื่อนไหวข้อต่าง   ( ROM )

-        การควบคุมกล้ามเนื้อ ( Motor control )

-        กำลังของกล้ามเนื้อ ( Strength )

-        การมองเห็น ( Vision )

-        ความสามารถในการรับรับรู้และทักษะทางความคิดของสมอง ( Perception / cognitive skills

3.   การใช้งาน

             โดยพิจารณาลักษณะของการใช้งานและรูปแบบของการดำเนินชีวิตที่ผู้ป่วยต้องการ ( Task & Lifestyle requirement )  จาก

-        ทักษะในการใช้งาน ( Functional skills ) เช่น  การเข็นรถ,  การเคลื่อนย้ายตัว ,การรับประทานอาหาร

-        กิจกรรมที่ต้องทำ ( Activities)  ในขณะที่ใช้รถเข็น เช่น  ทำงานทั่วไป หรือ ทำกิจกรรมเพื่อเป็นการพักผ่อน

-        อาณาบริเวณที่ใช้รถเข็น ( Content ) ใช้เฉพาะภายในอาคาร  หรือว่าต้องต้องใช้ภายนอกอาคาร

-        วิธีการเดินทางของผู้ใช้รถเข็น ( Transportation requirement )  ว่าเดินทาง โดยรถบัส รถตู้ หรือ รถเก๋ง

-        ความพึงพอใจ ( Preferences )  เกี่ยวกับสี  และรูปลักษณ์ของรถเข็น

4.   สภาพแวดล้อม

              พิจารณาถึงสิ่งเอื้ออำนวยต่าง ในการใช้ Wheelchair  ได้แก่

-        การใช้นั้นส่วนมากเป็นการใช้อยู่ภายนอกอาคาร หรือภายในอาคาร ( Outdoor / Indoor requirement )  เพราะจะต้องคำนึงถึงพื้นผิวของถนน หรืออาคาร  ความเหมาะสมของยางรถเข็น  ความทนทาน  และความปลอดภัยในการใช้รถ

-        ความต้องการคนดูแล ( Carer requirement )  นั้นจำเป็นหรือไม่  ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับทักษะ  และความชำนาญของผู้ป่วย

5.   ด้านเทคนิค

              สิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงคือเรื่องของการบริการ  การติดตั้ง  และการซ่อมบำรุง ( Technical considevation) 

-        การดูแลรักษา ( Maintenance )  ดูว่ามีศูนย์ให้บริการซ่อมบำรุงหรือไม่  มีอะไหล่ และมีการรับประกันหรือไม่

-        ความสามารถในการปรับโครงสร้างของรถ ( Adjustability of wheelchair frame )  เช่นการปรับเพื่อให้ใช้กับคนอื่นได้  หรือสามารถนำชิ้นส่วนมาใช้ใหม่ได้หลังการซ่อมแซม

-        การปรับเพื่อให้มีความพอดีกับการนั่ง ( Adaptations for seating ) ต้องสามารถทำได้ง่าย





*********************************************