วันอังคารที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2555




 การปรับสภาพบ้านสำหรับผู้สูงอายุ
                                                     โดย  ราเมศร์  เรืองอยู่  นักกิจกรรมบำบัด

            ในห้วงชีวิตของคนเรานั้น  เริ่มจากวัยเด็กที่ได้รับประคบประหงมอย่างดี พ่อแม่ผู้ปกครองจะต้องจัดเตรียมอุปกรณ์เครื่องใช้ที่นุ่มละมุนสำหรับผิวที่บอบบางของชีวิตใหม่ที่น่าทะนุถนอม  พร้อม ๆ ไปกับการให้เรียนรู้โลกใบใหญ่  เพื่อที่จะได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สามารถดูแลชีวิตของตนเองได้  เมื่อเติบใหญ่สู่วัยทำงานก็ได้ใช้ชีวิตของตนเองอย่างเต็มที่  สามารถปรับตัวเข้าได้กับทุกสภาวะที่เผชิญอย่างไม่ยาก  เนื่องจากมีความพร้อมของสภาพร่างกายและจิตใจที่แข็งแรงสมบูรณ์  จวบจนเมื่อย่างเข้าสู่วัยชรา  สภาพความสมบูรณ์ที่เคยมีเริ่มเสื่อมถอย  สภาพแวดล้อมเดิมที่เคยคุ้นเคยเริ่มกลายเป็นอุปสรรคในการดำเนินชีวิต  แล้วเราจะแก้ไขอย่างไรดี  การทำให้ผู้สูงอายุกลับมาแข็งแรงเป็นเรื่องฝืนธรรมชาติที่เราทำไม่ได้  แต่สภาพแวดล้อมเราสามารถจัดการกับมันได้  ปัญหาคือต้องจัดการอย่างไรจึงจะเหมาะสมกับผู้สูงอายุ

           ตามรายงานด้านแนวโน้มประชากรของโลกนั้น   สัดส่วนของผู้สูงอายุจะมีมากขึ้นเมื่อเทียบกับประชากรโลกในวัยอื่น  สำหรับประเทศไทยอาจมีผู้สูงอายุถึง12% ของประกรทั้งหมดในปี  พ.ศ. 2555 นั่นหมายความว่าเราควรมีแผนงานรองรับในเรื่องของความเป็นอยู่  หรือการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุ  ลดการเป็นภาระของสังคมและครอบครัว  ประกอบกับผู้สูงอายุมักจะมีปัญหาเรื่องสุขภาพตามมาด้วย ได้แก่ความเสื่อมของระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ  เกิดเป็นโรคข้อเสื่อมต่าง ๆ  โรคความดันโลหิตสูง  เกิดเป็นอัมพฤกษ์อัมพาต  โรคหัวใจ  โรคเบาหวาน  และโรคความจำเสื่อม  ซึ่งโรคเหล่านี้มักพบในผู้สูงอายุ  และเป็นปัจจัยหนึ่งที่เราต้องคำนึงถึงในการปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุ  นอกเหนือจากสภาพสังคมปัจจุบันที่ถูกบีบคั้นจากภาวะทางเศรษฐกิจทำให้ผู้สูงอายุจำนวนหนึ่งต้องอาศัยอยู่ที่บ้านเพียงลำพังหรืออยู่กับเด็กเล็กที่พ่อแม่ต้องออกไปทำงาน 

           การปรับสภาพแวดล้อมที่บ้านให้เหมาะสมกับสภาพของผู้สูงอายุจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นและมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของท่านเหล่านั้น  โดยเฉพาะห้องน้ำ  ห้องนอน  และ ห้องครัว ที่ผู้สูงอายุต้องเข้าไปทำกิจวัตรเป็นประจำ 

   
 ห้องน้ำ   สิ่งที่สำคัญที่สุดคือส่วนพื้น  ซึ่งมีโอกาสเสี่ยงสูงต่อการลื่นล้มอันเนื่องมาจากระบบการทรงตัวที่แย่ลงจากปัญหาทางร่างกาย เช่นข้อเสื่อม  ปวดเข่า  หลังโก่ง  ก้มเงย ลำบาก  เป็นต้น  จึงควรเลือกใช้วัสดุที่ไม่ลื่นเมื่อเปียกน้ำ เช่นปูด้วยกระเบื้องพื้นผิวหยาบ  หรือปูนชนิดไม่ฉาบเรียบ  อาจใช้วัสดุอื่นเช่น แผ่นรองกันลื่นปูเอาไว้   อุปกรณ์อื่น ๆ ที่ควรมีได้แก่  เก้าอี้สำหรับนั่งอาบน้ำ  เพราะการยืนอาบน้ำและต้องก้ม ๆ เงย ๆ ถูตัว  คงไม่สะดวกและไม่ปลอดภัย  โถส้วมไม่ควรเป็นแบบนั่งยอง  ควรเป็นแบบนั่งแล้วมีความสูงพอดีโดยดูที่ข้อเข่าต้องทำมุม 90 องศาขณะนั่ง  เพื่อให้ลุกนั่งได้สะดวกไม่ต้องใช้แรงขามาก   ของใช้ในห้องน้ำต่าง ๆ เช่น สบู่ แชมพู  ควรจัดวางในตำแหน่งที่เหมาะสม ไม่ต้องให้เอื้อมมือไปไกลหรือสูงเกิน  ควรมีอุปกรณ์เสริม เช่น ที่ถูตัวที่มีด้ามยาว เพื่อใช้ในการถูหลังและส่วนขา   เพิ่มความปลอดภัยด้วยการติดตั้งราวเกาะจากประตูทางเข้า และบริเวณโถส้วมสำหรับเกาะลุกนั่ง  อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือระบบแสงสว่าง  ควรจัดช่องแสงธรรมชาติและไฟฟ้าให้สว่างเพียงพอกับความสารถในการมองเห็นของผู้สูงอายุ   ไม่ควรมีธรณีประตู  ตำแหน่งของห้องน้ำควรคำนึงถึงความสามารถในการเดินได้ใกล้ไกลแค่ไหนของผู้สูงอายุ

          ห้องนอน   ควรเน้นเรื่องความสะดวกของอุปกรณ์เครื่องใช้   ที่จำเป็นต่าง ๆ เช่นปลั๊กไฟ โคมไฟ  สวิทซ์ควบคุมเครื่องปรับอากาศ  ควรอยู่ในตำแหน่งที่เข้าถึงได้ง่าย ไม่สูงหรือเตี้ยจนเกินไป  ปลั๊กไฟควบคุมแสงสว่างภายในห้องควรอยู่ใกล้ประตูที่สุด  เมื่อเข้ามาในห้องสามารถเปิดได้เลย และมีความสว่างที่เพียงพอ  การปูที่นอนกับพื้นทำให้ลุกขึ้นลำบาก  ควรใช้เตียงนอนที่มีความสูงพอดีคือเมื่อรวมกับความหนาของเบาะนอนแล้วเมื่อนั่งห้อยขาฝ่าเท้าวางราบกับพื้นพอดี  มุมของข้อเข่าทำมุมประมาณ 90 องศา  จะทำให้ผู้สูงอายุลุกนั่งสะดวก  ที่นอนไม่ควรนุ่มหรือแข็งจนเกินไป


         ห้องครัว  ควรมีโต๊ะสำหรับจัดเตรียมประกอบอาหาร  และมี
พื้นที่เพียงพอและเชื่อมต่อกับบริเวณที่ปรุงอาหาร  เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถเลื่อนของหนัก ๆแทนการยกได้  เป็นการประหยัดพลังงานให้เหมาะสมกับความแข็งแรงของผู้สูงอายุ  มีเก้าอี้ที่มั่นคงแข็งแรง   อุปกรณ์เครื่องใช้ต่าง ๆ ในครัวควรจัดวางในตู้หรือชั้นที่ไม่สูงหรือต่ำจนเกินไป  ลูกบิดและสวิทซ์บังคับอุปกรณ์ต่าง ๆ เป็นแบบควบคุมได้ง่าย  มีเครื่องหมายที่ชัดเจน  ควรมีระบบตัดแก๊สหรือตัดไฟอัตโนมัติ เพราะผู้สูงอายุมักจะลืม

          บริเวณระเบียงหรือห้องนั่งเล่น     เป็นพื้นที่สำหรับพักผ่อน 
 อิริยาบถ   ควรให้โปร่งโล่ง สบาย อากาศถ่ายเทสะดวก และมีแสงสว่างเพียงพอ  มีโต๊ะเก้าอี้ตามความจำเป็น  ที่นั่งไม่ควรเป็นโซฟาที่นุ่มและลึกเวลานั่ง  เพราะจะทำให้ผู้สูงอายุเสียการทรงตัวขณะลงนั่งและทำให้ลุกขึ้นลำบากจากการจมลึกของก้นขณะนั่ง  ควรเป็นเตียงหรือตั่งที่สามารถพักเอนได้

          ทางเข้าบ้าน  หากเป็นทางเข้าบ้านที่มีต่างระดับหรือบันไดควรมีราวเกาะ ไม่ควรมีอุปกรณ์หรือเฟอร์นิเจอร์วางในลักษณะยื่นออกมา
กีดขวาง  ขอบมุมต่าง ๆ ควรเป็นลักษณะโค้งมนเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดบาดแผล  ควรมีที่สำหรับวางสิ่งของเมื่อเข้ามาในบ้านและอาจมีเก้าอี้ไว้ให้พักเหนื่อย  มีสวิทซ์ไฟอยู่ใกล้ประตูทางเข้าบ้าน

          หากเราสารถปรับสภาพแวดล้อมที่บ้านให้เหมาะสมกับสภาพของผู้ป่วยมากที่สุด  ตามปัจจัยของสภาพพื้นที่  งบประมาณ และความพึงพอใจทางวิถีวัฒนธรรม  ย่อมช่วยให้สภาพชีวิตของผู้ที่อยู่ในบ้านแห่งนั้นดีขึ้น ซึ่งไม่ได้หมายถึงเพียงผู้สูงอายุ แต่รวมถึงลูกหลานหรือคนดูแลก็จะได้รับผลดีด้วยเช่นกัน เพราะจะช่วยลดภาระ  ลดความเสี่ยง และความยุ่งยากที่จะเกิดขึ้นได้



                           ++++++++++++++++++++++++

                                           ˜˜˜˜˜


1 ความคิดเห็น: