วันพฤหัสบดีที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2555

การดูแลด้านชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุในมุมมองของนักกิจกรรมบำบัด

การดูแลด้านชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุในมุมมองของนักกิจกรรมบำบัด

               กิจกรรมบำบัด คือการนำกิจกรรมที่มีจุดมุ่งหมายรวมทั้งวิธีการและอุปกรณ์ที่เหมาะสมมาใช้ในการบำบัดเกี่ยวกับความสามารถของบุคคลที่มีความบกพร่อง ทางด้านร่างกาย จิตใจ การเรียนรู้และพัฒนาการเกี่ยวกับเด็ก โดย กระบวนการตรวจประเมิน ส่งเสริม ป้องกัน บำบัดและฟื้นฟูสมรรถภาพ ให้สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้ เพื่อให้บุคคลดำเนินชีวิตได้ตามศักยภาพ ป้องกันการไร้ความสามารถและคงไว้ซึ่งการมีสุขภาพที่ดี
                สำหรับในผู้สูงอายุนั้นอาจมีความบกพร่องทางร่างกายเกิดขึ้นได้จากความเสื่อมตามวัย   เกิดปัญหากับความแข็งแรงของระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ  การทำงานของระบบอวัยวะต่าง ๆ   เช่น  การหายใจ  การมองเห็น  การได้ยิน  เป็นต้น    ซึ่งจะสงผลต่อการดำเนินกิจวัตรประจำวันของผู้สูงอายุ   ตามกรอบอ้างอิงในการปฏิบัติงานของนักกิจกรรมบำบัดจะต้องดูแลทางด้าน   การทำกิจวัตรประจำวันพื้นฐาน/ขั้นสูง  การทำงาน  กิจกรรมเพื่อการพักผ่อน  และ   การมีส่วนร่วมในสังคม    ฉะนั้นในผู้สูงอายุนักกิจกรรมบำบัดก็จะมีบทบาทในเรื่องต่อไปนี้
1.  การฝึกและให้คำแนะนำที่เหมาะสมในการทำกิจวัตรประจำวัน
2. ประเมินและให้การบำบัดในด้านการรับรู้ การรับสัมผัสและการเคลื่อนไหว
3. ประยุกต์และดัดแปลงอุปกรณ์เสริม และอุปกรณ์ช่วย
4. ให้คำแนะนำและดัดแปลงสภาพบ้านหรือสภาพแวดล้อมรวมทั้งขจัดสิ่งกีดขวางทาง
     สถาปัตยกรรม
5. ให้คำแนะนำเกี่ยวกับ การสงวนรักษาพลังงาน (energy conservation) ที่ถูกต้อง
6. การเสนอแนะให้ผู้ที่กำลังจะเข้าสู่วัยสูงอายุได้รู้จักการเตรียมตัว วางแผนเพื่อการยอมรับและ   
    เตรียมพร้อมเข้าสู่วัยสูงอายุ
7. จัดตารางเวลา และให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดำเนินชีวิต ภายหลังเกษียณอายุจากงานประจำ
8. เสริมสร้างสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจโดยผ่านทางกิจกรรม เช่น กิจกรรมนันทนาการ
     กิจกรรมออกกำลังกาย การพักผ่อน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น