วันเสาร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2556

ความใส่ใจที่หายไป


       ในเช้าวันหยุดที่สดใส  พระอาทิตย์ส่องแสงยามเข้ากระทบใบไม้ที่ชุ่มฉ่ำน้ำฝนที่หล่นพรั่งพรูเมื่อตอนเช้ามืด  หยดน้ำยังเปล่งประกายวาบวับเมื่อกระทบแสง
ใบไม้แห้งร่วงหล่นเพราะแรงลมและฝนชะ  ผมวางถ้วยกาแฟที่ละเลียดจิบจนเหลือก้นถ้วยบนม้านั่งไม้หมอนรถไฟ  แล้วหยิบไม้กวาดทางมะพร้าวมากวาดใบไม้ที่หล่นเกลื่อนพื้นหน้าบ้าน  กวาดเสร็จแล้วเงยหน้าขึ้นไปมองต้นไม้ที่หน้าประตู  เห็นดอกไม้รูปทรงแปลกชนิดที่ไม่เคยเห็นมาก่อน  หรือว่ามันลอยมาจากไหน  ผมคิดในใจ  ไม่ใช่สินะเพราะมันมีขั้วก้านดอกอยู่ที่ยอดไม้นั่น   มันคือดอกของต้นนี้นี่เอง  แล้วมันต้นอะไรล่ะ   ผมนึกชื่อมันไม่ออกรู้แต่ว่าน้องที่ทำงานซื้อให้ตอนขึ้นบ้านใหม่ ตอนนั้นมันเป็นต้นเล็กถูกถักเป็นเปียอยู่ในกระถาง
         ผมเริ่มเอะใจตนเอง  ผมเดินผ่านมันทุกวันไปมาในเวลาเข้าออกบ้าน  แต่ผมไม่เคยใส่ใจเลยว่ามันคือต้นอะไร   มันอยู่ที่หน้าบ้านมาสิบกว่าปีจนตอนนี้มันสูงท่วมหัว  และที่สำคัญตอนนี้มันมีดอก  ซึ่งผมเพิ่งเห็นดอกของมันเป็นครั้งแรกในวันนี้  และเพราะความที่ผมไม่ค่อยได้ใส่ใจมัน  ประกฏว่าดอกที่เห็นนั้นกำลังจะร่่วงโรยเสียแล้ว........ตอนนี้ผมนึกชื่อมันออกแล้ว  มันชื่อว่าต้นศุภโชค
         มันทำให้ผมคิดได้ว่าดีนะที่มันเป็นต้นไม้  ถ้าผมไม่ใส่ใจคนใกล้ตัวที่รู้จักและคนที่เดินสวนกันไปมาทุกวัน  ไม่ว่าจะเป็นที่บ้านหรือที่ทำงาน...มันจะเป็นอย่างไรหนอ

                                                                                                                       ราเมศร์

วันจันทร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ความพอดีของการเล่นเกมคอมพิวเตอร์อยู่ตรงไหน?

           ผมเป็นคนหนึ่งที่ชอบใช้เวลาว่างและไม่ว่างแต่จัดเวลามาเล่นเกมได้  นั่นอาจเป็นเพราะเราติดมันแล้วใช้ไหม อะไรในเกมที่ทำให้แต่ละคนไม่สนใจหรือละเลยอย่างอื่นแล้วมานั่งเล่นเกม  ผมคิดว่าเกมน่าจะมาตอบสนองความต้องการลึกๆที่อยู่ในใจของแต่ละคนได้
           เวลาที่เล่นเกมนานๆ ผมจะมีคำถามให้ตัวเองเสมอว่าพอหรือยัง  แล้วงานอื่น ๆ ที่ค้างอยู่ล่ะจะทำอย่างไร  ส่วนมากผมก็จะบอกตัวเองว่าไม่เป็นไรเดี่ยวค่อยทำตอนโน้นตอนนี้  เกมส่วนมากที่ผมเล่นเป็นเกมชนิดที่ต้องทำภาระกิจให้เราไต่ระดับของเกมที่สูงขึ้นไปเรื่อย ๆ หรือขยายอาณาจักรของตัวเองไปเรื่อย ๆ ผมมีความสุขเมื่อรู้สึกว่าตนเองทำสำเร็จในแต่ละด่าน  รู้สึกว่าเรายอดเยี่ยมมาก และหากว่ามีคนรู้เห็นในความสำเร็จของเราด้วยแล้วก็ยิ่งเพิ่มความภาคภูมิใจ  หรือนี่เป็นเพราะเกมตอบสนองในความต้องการให้เป้นที่ยอมรับ  เรายอมรับว่าตัวเราเก่ง  คนอืนยอมรับว่าเราเก่ง  แต่เราก็ไม่รู้จักพอจนกว่าเราจะทำได้ถึงระดับสูงสุดของเกมนั้น ๆ   แต่ถ้าเจอเกมที่มันยากเกินไปเราก็จะยุติการเล่นทันที  ผมเคยคิดว่าถ้าอย่างนั้นเราก็เอามาใช้กับการทำงานของเราได้เหมื่อนกัน  เช่น พยายามทำให้ตำแหน่งหน้าที่การงานหรือระดับเงินเดือนมันสูงมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่มันกลับใช้ไม่ได้ผลในโลกของความจริง  อาจเป็นเพราะความยุ่งยากและเวลาที่เนิ่นนานกว่าการเล่นเกม
           อะไรที่เกินไปคือความไม่พอดี  ฉะนั้นการหมกมุ่นอยู่กับเกมมากเกินไปย่อมไม่ส่งผลดีในภาพรวมแน่ ๆ เราอาจจะเล่นเกมได้เก่งขึ้น  เราฉลาดคิดมากขึ่น  เรารู้เท่าทันเกมมากขึ้น  แต่สิ่งที่จะเพิ่มตามมาพอๆกันก็คือสิ่งที่เราสั่งสมจากการละเลย  เช่น ความสัมพันธ์ในครอบครัวแย่ลง  การใส่ใจซึ่งกันและกันลดลง  การดูแลสุขภาพตัวเองลดลง  การใส่ใจในรายละเอียดของงานลดลง  ซึ่งสุดท้ายย่อมส่งผลกระทบที่รุนแรงกลับมาที่ตัวเราแน่ ๆ แล้วใครจะเป็นคนเตือนเราล่ะ    ถ้าคนอื่นเตือนเรา  เราก็จะรู้สึกเหมือนว่าเขาไม่เข้าใจเรา  เรามักไม่พอใจที่มีคนมาว่าเราติดเกม  เพราะในความคิดของเราเวลาที่เราใช้เล่นเกมคือเวลาที่เราจัดสรรแล้ว  ถ้าเราไม่มานั่งทบทวนดู  เราจะไม่รู้ว่าเราเสียเวลาไปกับมันมากมายขนาดไหน  เวลาที่เราใช้เล่นเกมนั้นสามารถเอาไปทำอะไรที่สำคัญได้มากมาย  แล้วความพอดีอยู่ตรงไหน
         ผมคิดว่าแต่ละคนมีกิจกรรมที่มีความหมายต่อตนเองที่แตกต่างกัน  การมีสติรู้ตนเองเท่านั้นที่จะทำให้เราเล่นเกมอย่างสมดุลได้  ไม่มากไปและไม่น้อยไป  การเล่นเกมมีประโยชน์ต่อการลับสมอง และพัฒนาทักษะทางความดิดด้านต่าง ๆ และช่วยตอบสนองความพึงพอในให้กับเราได้  ช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวได้ถ้าเล่นด้วยกัน   ขณะเดี่ยวกันก็ส่งผลกระทบกับสิ่งรอบข้างที่เราละเลย  ถ้าเรารู้ตัวว่าเรากำลังละเลยอะไร  เราก็จะรู้ว่า ณ ขณะนั้นเราควรเล่นเกมหรือว่าควรทำอะไร   เลือก  และทำในสิ่งที่เรามีสติรู้  ความสมดุลของการเล่นเกมก็จะเกิดกับเรา   มากไปน้อยไปอยู่ที่บริบทของแต่ละคน.....ยากแต่ทำได้


                                                                                                                                  ราเมศร์


วันเสาร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2556

    

เมื่อมีบางสิ่งมากระทบใจจนเสียสมดุล...คุณทำอย่างไร



          การรักษาสมดุลของชีวิตไม่ใช่การทำให้ทุกอย่างอยู่ตรงกลาง  แต่ในความหมายของผมมันเป็นการทำให้ชีวิตอยู่ตรงตำแหน่งพอดีที่จะไม่เอียงไปทางทุกข์หรือเอียงไปทางสุข  เมื่อส่วนที่เป็นทุกข์มีน้ำหนักมากกว่าส่วนทีเป็นสุข  เราก็จะต้องทำกิจกรรมที่จะเพิ่มส่วนที่จะให้เกิดน้ำหนักที่เป็นสุขให้มากขึ้น  จนกระทั่งใจอยู่ตรงกลางไม่สุขและไม่ทุกข์
         ในช่วงวันสองวันที่ผ่านมานี้มีหลายสิ่งหลายอย่างเข้ามากระทบใจของผมจนรู้ตัวได้ว่าจิตใจไม่อยู่ตรงกลาง  แกว่งไปแกว่งมา  เมื่อใจเสียสมดุล ชีวิตก็พลอยเสียสมดุลไปด้วย ส่งผลกระทบต่่อชีวิตตนเองและคนในครอบครัวและเพื่อนร่วมงานรอบข้าง  พยายามถามตัวเองว่าเกิดอะไรขึ้นแต่ก็ไม่พบคำตอบ  เมื่อมีเวลาว่างจึงขอใช้เวลาเข้าไปศึกษาจิตใจตนเองที่วัดอโศการาม  ซึ่งเป็นวัดที่อยู่ใกล้บ้าน  และมีบรรยากาศที่เหมาะอย่างยิ่งที่จะอยู่อย่างสงบ  ใต้ร่มไม้ที่ร่มครึ้ม  ลมพัดอ่อน ๆ โชยผ่านเป็นระยะ  ผมใช้เวลาสองชั่วโมงในการอ่านหนังสือ "พระพุทธเจ้าพระองค์จริง"  อ่านไปเรื่อย ๆ โดยไม่ได้คาดหวังหรือกำหนดกฏเกณฑ์ใด ๆ   หลังจากนั้นก็เดินหยั่งรู้การเคลื่อนไหวของตนเอง  และเฝ้าดูความรู้สึกต่าง ๆ ที่เกิดจากการเคลื่อนไหว จากการเห็น  และเสียงที่ได้ยิน     
        ในขณะที่นั่งอ่านหนังสือเห็นว่ากายกับใจของตนเองจะต้องไปด้วยกัน  เพราะเห็นว่าใจเกิดจากการที่มีกาย  ใจเกิดจากการทำงานของสมองที่เป็นไปตามธรรมชาติ  แต่ธรรมชาติก็สร้างให้สมองพัฒนาได้เพิ่มพูนหากมีการฝึกหรือเมื่อมีการคิดซ้ำ ๆ จนอาจถึงขั้นแยกออกมาจากกายได้  เมื่อได้มาเดินดูการเคลื่อนไหวก็เห็นว่าการพัฒนาของจิตใจเกิดจากการรับรู้ทางกาย    เมื่อเห็นนก  เห็นไก่  เห็นกระรอก  หากินอยู่ตามธรรมชาติ ก็สงสัยว่าสัตว์จะมีความทุกข์เกิดขึ้นตอนไหนบ้าง  และคิดว่าสัตว์น่าจะมีความทุกข์ในตอนที่มีความรู้ว่าตนเองกำลังตกอยู่ในอันตราย  ตอนหิวหาอาหารไม่ได้  นกกินหนอนโดยไม่รู้สึกว่าบาปหรือกำลังเบียดเบียนชีวิตผู้อื่น   แต่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็แล้วแต่  สุดท้ายเมื่อเวลาร่วงโรยไปผมก็รู้สึกได้ว่าใจของตนเองนั้นกลับมาอยู่ในตำแหน่งที่ไม่ทุกข์และไม่สุขได้แล้ว   หมายความว่าผมน่าจะปรับสมดุลของใจได้แล้ว
         ผมยังคงเดินต่อไปและดูใจของตนเองต่อไป  แต่แล้วความรู้สึกแปลก ๆ ก็เกิดขึ้นเมื่อผมต้องเดินผ่านคุณลุงท่านหนึ่งที่แต่งตัวภูมิฐานมาก  กำลังกวาดใบไม้ตรงบริเวณทางที่ผมเดิน  ความจริงในช่วงท้าย ๆ ของการเดินผมก็ได้ยินเสียงกวาดใบไม้ดังแทรกเสียงนกเสียงกาดังมาจากหลาย ๆ ทิศทางเนื่องจากเป็นเวลาบ่ายคล้อยแล้ว  มีคนหลายคนกวาดใบไม้    แต่ความรู้สึกที่ว่าแปลกนี้เกิดขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อผมเดินผ่านคุณลุงท่านนี้ซึีงผมเห็นท่านกวาดพื้นอยู่ใกล ๆ มาได้สักพักหนึ่งแล้ว  ความรู้สึกนั้นก็คือรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่าและเห็นแก่ตัว
        นี่คงจะเป็นคำตอบของผมว่าทำไมเราจึงควรทำนุบำรุงวิถีแห่งพุทธ.........


                                                                                                                   ราเมศร์  เรืองอยู่     
                                                                                                                         9 มี.ค. 56
         

วันศุกร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2556

รู้เขา...รู้เรา   บนเส้นทางการกินเพื่อสุขภาพ


 
     ในกระแสสังคมแห่งการกินเพื่อสุขภาพในปัจจุบัน  มีความหลายในองค์ความรู้ด้านการกินเพื่อสุขภาพ  หลายหลายแนวทางปฏิบัติเพื่อให้ได้มาซึ่งสุขภาพที่แข็งแรง  เน้นทั้งอาหารการกิน และการปฏิบัติตน  เมื่อเข้าไปหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตก็จะพบข้อมูลมากมาย  มากจนบางครั้งไม่รู้ว่าจะเลือกวิธีการใดดี  เพราะแต่ละต้นตำหรับก็ต่างยืนยันในแนววิธีของตน  และสำหรับคนที่กำลังมองหาหนทางว่าจะเลือกแบบไหนดีก็คงยากในการตัดสินใจ   จากการที่ผมได้คุยกับเพื่อนร่วมงาน  ส่วนใหญ่ก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า  มันยากที่จะทำได้ตามนั้น  เพราะวิถีชีวิตปัจจุบันไม่เอื้ออำนวย  ทั้งในเรื่องของเวลา  แหล่งที่ให้ได้มาซึ่งอาหารนั้น ๆ และความยุ่งยากของกระบวนการในการเตรียมอาหาร  และที่สำคัญคือความไม่มีวินัยในตนเองมากพอที่จะดึงดันฝืนวิถีที่เคยชิน   ปฏิบัติได้ไม่กี่คราวก็มีอันต้องเลิกราไปก่อนที่จะเห็นผล   และสิ่งหนึ่งที่ผมเห็นคือส่วนใหญ่ทำไปตามคำบอกเล่า ทำตาม ๆ กัน  กินตาม ๆ กันเพราะได้ยินว่ามันดี   ก็กินตามแนวนั้น ๆ โดยที่มีความรู้น้อยเหลือเกินหรือแทบไม่มีเลยว่าร่างกายของเราต้องการมันมากน้อยแค่ไหน
     ตัวผมเองก็มีความสนใจในการหาแนวทางแห่งการกินเพื่อสุขภาพ  พยายามหาวิธีที่สอดคล้องกับวิถีของตนเองให้มากที่สุด  สุดท้ายก็เกิดความสงสัยว่าเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราต้องการอะไรในปริมาณแค่ไหนอย่างไร  แล้วก็พยายามไปค้นหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ต  สุดท้ายก็ไม่ได้คำตอบ  แต่ได้องค์ความรู้มากมายว่าวิธีหรือแนวปฏิบัตินั้น ๆ จะส่งผลอย่างไรในหลักการ   และองค์ความรู้มากมายเกี่ยวกับสรรพคุณของอาหารเพื่อสุขภาพ  แต่ก็ไม่พบข้อมูลไหนเลยที่บอกว่าความเหมาะสมที่จะเป็นผลนั้นจะต้องทานมากน้อยแค่ไหนอย่างไร   มันเหมือนกับว่าเรารู้เขา  คือรู้ว่าอาหารแต่ละชนิดหรือแต่ละประเภทมีข้อดีข้อเสียอย่างไร  แต่เรากลับไม่รู้เรา  คือไม่รู้ว่าร่างกายของเราจะเอาสรรพคุณนั้น ๆ มาใช้ให้เกิดคุณและลดโทษได้อย่างไร   หากเป็นเช่นนี้   รบร้อยครั้งก็คงจะแพ้ร้อยครั้งดั่งคำโบราณว่าไว้เป็นแน่
     เป็นความโชคดีที่ก่อนปีใหม่  ผมได้รับกรุณาจากอาจารย์มณีวรรณ  กมลพัฒนะ  ท่านได้ให้หนังสือผมมาหนึ่งเล่ม  เป็นหนังสือที่ท่านเขียนขี้นมาเองชื่อว่า "ชีวิต  ได้เลือก"    เมื่อได้อ่านหนังสือเล่มนี้ผมก็ได้พบคำตอบในคำถามที่เกิดขึ้นเมื่อครั้งที่อาจารย์ได้พูดเกี่ยวกับการรับประทานอาหารเพื่อเป็นยา  ซึ่งผมได้เขียนไว้ในโพสต์ก่อนหน้านี้ในหัวข้อ  "โรงเรียนชีวิต  กับโอกาสในการเรียนรู้"  ซึงเป็นตอนที่ผมได้ไปเยี่ยมชมมูร่าห์ฟาร์มและได้พูดคุยกับอาจารย์เกี่ยวกับการกินอาหารตามแนวทางของคุณหมอสุชาติ  ที่อาจารย์ยึดเป็นแนวปฏิบัติจนมีสุขภาวะดีขึ้นอย่างชัดเจน เช่น  ความดันเลือดกลับมาเป็นปกติโดยไม่ต้องทานยา  และก็มีโอกาสได้ทดลองกินอาหารซึ่งเน้นโปรตีนและไขมันมากกว่าแป้ง  ซึีงตอนนั้นก็เกิดความสงสัยถึงกลไกของอาหาร  แต่ก็ยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนจากอาจารย์  พอได้มาอ่านหนังสือเล่มนี้จึงเข้าใจถึงกลไก  และเข้าใจว่าอาจารย์คงยังไม่อยากบอกในตอนนั้น  แต่อยากให้มาอ่านในหนังสือมากกว่า
     หลังจากที่ได้พยามทำความเข้าใจในกลไกต่าง ๆ ของการกินเพื่อสุขภาพ  ทั้งในแง่ของตัวอาหาร  และในแง่ของกลไกการทำงานของร่างกายของเรา  ก็เกิดความคิดความเข้าใจขึ้นมาว่าคนเรานี้หากจะกินอาหารเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพจริงๆ ต้องใช้หลักรู้เขารู้เรา  รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง  หมายความว่าเราต้องศึกษาให้รู้จริงว่าอาหารนั้น ๆ มีคุณอย่างไร  และต้องศึกษาร่างกายของเราให้รู้อย่างจริง ๆ ด้วยว่าเราต้องการอาหารนั้น ๆ แค่ไหน  คือเราต้องเข้าใจกระบวนการตั้งแต่เราเอาอาหารเข้าปากแล้วร่างกายของเรามันเล่นแร่แปรธาตุอาหารให้ไปอยู่ตรงไหน อย่างไร   เราจึงจะเอาชนะความอ่อนแอของสุขภาพได้   ปัจจุบันผมเข่าใจได้ในหลักการว่าจะทานอาหารอย่างไรร่างกายจึงจะนำคุณค่าจากอาหารไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเกิดพิษหรือผลเสียน้อยสุด  แต่จะให้อธิบายอย่างละเอียดก็ถือเป๊นเรื่องที่รู้เพียงผิวเผิน
     สำหรับผู้ที่สนใจอยากรู้ว่าอาหารมีคุณอย่างไร  และร่างกายเราจะใช้มันได้อย่างไร  ผมขอแนะนำหนังสือ  "ชีวิต  ได้เลือก"   ของอาจารย์มณีวรรณ  กมลพัฒนะ  เมื่อได้อ่านท่านจะไม่ได้เข้าใจเพียงหลักในการกินอาหารเพื่อสุขภาพ  แต่ยังมีอีกหลายอย่าง  หลายแง่คิดมุมมองที่ส่องทะลุก้าวไกลตามประสบการณ์ของท่าน  สอดแทรกอยู่ในหนังสือเล่มนี้
 
                                                                                                 ราเมศร์  เรืองอยู่