วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

น้ำท่วมทุ่ง

                คำว่า "น้ำท่วมทุ่งผักบุ้งโหรงเหรง"  คงเป็นคำที่ไม่คุ้นหูสำหรับเด็กรุ่นใหม่  เพราะเหตุการณ์น้ำท่วมทุ่งจนเกิดผักบุ้งงอกงามนั้นหาไม่ได้แล้วในยุคปัจจุบัน   ถึงแม้จะยังมีนำ้ป่าไหลหลากอยู่บ้างในบางพื้นที่  แต่ด้วยระบบชลประทานที่ทำคูคลองส่งน้ำและระบายน้ำจากทุ่งนา  ทำให้น้ำป่าไหลผ่านไปอย่างรวดเร็ว ไม่มีน้ำที่ไหลหลากผ่านพื้นที่ทุ่งนาเป็นแรมเดือนเหมือนสมัยก่อน
               ในฐานะเด็กที่เติมโตมากับท้องไร่ท้องนาอย่างผม   เห็นการเปลี่ยนแปลงมากมายในท้องทุ่ง  เมื่อเทียบกับในสมัยที่ผมยังเป็นเด็กเมื่อหลายสิบปีก่อน  ธรรมชาติคงต้องปรับตัวเองให้เข้ากับสภาพที่เป็นจริงในปัจจุบัน  ธรรมชาติที่งดงามอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ชุ่มน้ำในฤดูน้ำหลากก็เหือดหายไปเหลือไว้แค่ในความทรงจำ   ในอดีตของพื้นที่บ้านเกิดของผมที่อำเภอบรรพตพิสัย  จังหวัดนครสวรรค์  จะมีน้ำไหลหลากมาท่วมทุ่งทุกปีในช่วงกลางฤดูฝน และในแต่ละปีจะท่วมอยู่นานไม่น้อยกว่าสองสามเดือน ซึ่งไม่ใช่น้ำท่วมขังแต่เป็นนำ้ที่ไหลพัดผ่านพื้นที่จากเหนือลงใต้  เด็ก ๆ อย่างผมจะตื่นเต้นทุกครั้งที่เห็นน้ำเริ่มเอ่อท้นท่วมชายทุ่งมาจ่ออยู่ที่พื้นที่หลังบ้าน  เพราะมันคือสัญญาณของความสนุกสนานที่จะเกิดตามมาในอีกไม่ช้า  เมื่อน้ำไหลบ่าท่วมทุ่งในประมาณเจ็ดวันแรก  พวกเรายังถูกผู้ใหญ่ห้ามไม่ให้ไปเล่นน้ำเพราะน้ำยังเป็นสีขุ่น  แต่เราก็ได้สนุกสนานกับการตกเบ็ดหาปลาที่มากับสายน้ำ  หลังจากเจ็ดวันน้ำจะเริ่มใสไหลเย็นจนเห็นเม็ดดินเม็ดทรายอยู่ด้านล่าง  พวกผู้ใหญ่จะทำท่าน้ำในบริเวณที่มีธารน้ำไหลผ่านสำหรับเป็นที่ตักน้ำมาใช้  ซักผ้า อาบน้ำ  ส่วนเด็ก ๆ อย่างเราก็ใช้เป็นท่ากระโดดน้ำ  และเด็กส่วนใหญ่ก็จะหัดว่ายน้ำโดยเริ่มจากการเกาะลูกมะพร้าวแห้งแทนแผ่นโฟมในสระว่ายน้ำเหมือนปัจจุบัน  
               ความอุดมสมบูรณ์แห่งท้องทุ่งในยามน้ำหลากค่อย ๆ ปรากฎให้เห็น เริ่มจากเหล่าผักบุ้งนาที่ชูยอดโผล่ขึ้นมาเหนือน้ำ เป็นอาหารที่อุดมด้วยวิตามิน  ตามด้วยพื้ชน้ำอีกหลายหลากชนิดค่อย ๆ เกิดและเติบโตพริ้วใบสะบัดไปตามกระแสน้ำที่ไหลเอื่อย ผักแว่น ผักกระเฉด  บัวสาย  สาหร่าย เกิดแทรกแซมอยู่ในทุ่งข้าวให้เราได้เก็บกินอย่างไม่ต้องซื้อหา  กุ้งหอยปูปลาก็สามารถจับหามาได้อย่างง่ายดาย  ในยามค่ำคืนก็แว่วระงมไปด้วยเสียงกบเขียดและนกน้ำสลับเสียงสูงต่ำในท่วงทำนองแบบธรรมชาติฟังแล้วสงบเพลินยิ่งนัก  ภาพความงดงามของธรรมชาติยามน้ำหลากท่วมทุ่งยังติดตรึงอยู่ในความทรงจำของผมเสมอในคราวที่ผมนั่งเรือหมูที่พ่อเป็นคนใช้ไม้ค้ำถ่อและแม่เป็นคนช่วยพาย  พวกเราพายเรือไปดูข้าวพันธ์หนักที่กำลังจะออกรวงและเก็บเกี่ยวได้หลังน้ำลด  แม่นำเครื่องบูชาแม่โพสพได้แก่ ข้าวสุก ไข่ต้ม ขนมต้มขาว หมากพลู ไปทำพิธีไหว้เทวีแห่งข้าว หรือเราเรียกว่าไปทำขวัญข้าว   พ่อถ่อเรือลัดเลาะท้องทุ่งไปหลายกิโลเมตร  กู้ลอบและไซดักปลา ได้อาหารโปรตีนมากินได้หลายมื้อ แม่ก็เก็บพืชน้ำ และสายบัวมาทำอาหาร  เด็กอย่างผมก็มีความสุขที่ได้เห็นแมงปอหลากสีโบยบินฉวัดเฉวียนเห็นปีกใสสะท้อนแสงแดดยามสายวาววับแล้วบินมาจับที่ยอดหญ้าที่ปลิ่มน้ำ  พอเราเอื้อมมือจะจับก็สุดเปรียวบินโฉบเฉี่ยวหนีไปอย่างว่องไว  และบางครั้งก็สุดดีใจเมื่อไปเจอกับไข่แมงดานา  เพราะว่าเวลาทีนำมาปิ้งกินนั้นส่งกลิ่นหอมและเนื้อกรุบกรอบโอชานัก



               ทุกวันนี้เวลาที่ผมได้กลับไปบ้านเกิดในฤดูที่เคยมีน้ำหลาก ผมไม่เห็นภาพในความทรงจำนี้อีกแล้ว  ท้องทุ่งข้าวเขียวขจียังมีอยู่เหมือนเดิม  แต่ในทุ่งข้าวมีน้ำแค่พอหล่อเลี้ยงต้นข้าว  หากน้ำเยอะก็จะถูกระบายลงคลองส่งน้ำ ไม่ทิ้งเวลาพอให้ปลาวางไข่  พืชน้ำไม่ทันได้งอกเงย มีแต่หญ้าที่เป็นวัชพืชและกินไม่ได้  ไม่มีกุ้งหอยปูปลา  มีหอยบางชนิดอยู่บ้างแต่เป็นชนิดที่กินไม่ได้  ในน้ำก็อุดมด้วยปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง  เกษตกรหันมาพึ่งน้ำบาดาลแต่ก็เริ่มเหลือตราน้ำใต้ดินให้สูบขึ้นมาใช้ได้น้อยลงต้องเจาะลึกมากขึ้น อาจเป็นเพราะน้ำที่ไหลผ่านไปตามระบบคลองชลประทานอย่างรวดเร็วไม่มีโอกาสได้ซึมลงใต้พื้นดิน   นี่คงเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการรักษาสมดุลของธรรมชาติที่มนุษย์ทำให้ธรรมชาติเสียสมดุล  แล้วพวกเราล่ะ  จะหาจุดสมดุลของการใช้ชีวิตนี้อย่างไรในสภาะวะที่ธรรมชาติเสียสมดุล
                                                                                                              
                                                                                                          ราเมศร์  เรืองอยู่
                                                                                                                5 พ.ค.59

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น