วันเสาร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ความสมดุลของชีวิตที่เกิดจากแนวพระราชดำริ




         ท่านปราโมทย์ ไม้กลัด      ได้กล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในสมัยที่ท่านเป็นผู้ตรวจราชการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ว่าทรงสนพระราชหฤทัยในการจัดหาน้ำให้แก่เกษตรกรสำหรับใช้ในการทำการเกษตรเสมอมา ด้วยทรงตระหนักว่าสระน้ำในไร่นาเป็นปัจจัยสำคัญในการเพาะปลูก จึงทรงคิดวิธีกักเก็บน้ำเพื่อการเกษตร การจัดการด้านการใช้น้ำกับพื้นที่การเกษตรให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยได้พระราชทานแนวพระราชดำริ "ทฤษฎีใหม่" โดยแบ่งการใช้ประโยชน์พื้นที่ (15 ไร่)เป็น 3 ส่วนดังนี้
  • ส่วนที่หนึ่ง พื้นที่ร้อยละ 30 (ประมาณ 3 ไร่) ให้ขุดเป็นสระกักเก็บน้ำประจำไร่นา ลึก 4 เมตร จุน้ำได้ประมาณ 10,000 ลูกบาศก์เมตร เพื่อไว้กักเก็บน้ำในฤดูฝนไว้ใช้ทำนา รวมทั้งไว้อุปโภคบริโภคและทำการเกษตรผสมผสานได้พอเพียงตลอดปี
  • ส่วนที่สอง พื้นที่ร้อยละ 60 (ประมาณ 10 ไร่) ให้เป็นพื้นที่ทำการเกษตร โดยการทำไร่นาสวนผสม ด้วยการปลูกข้าวร้อยละ 30 ที่เหลือปลูกพืชสวน ไม้ผล ตามความเหมาะสมของสภาพแวดล้อมและตลาดท้องถิ่น
  • ส่วนที่สาม พื้นที่ร้อยละ 10 (ประมาณ 2 ไร่) เป็นบริเวณที่อยู่อาศัย โรงเรือน คอกสัตว์ ทำกองปุ๋ย กองฟาง ลานตาก-นวดพืชผล ฯลฯ
           หลักสำคัญของทฤษฎีใหม่นี้ คือการให้เกษตรกรมีความพอเพียงที่จะเลี้ยงตัวเองได้อย่างพอมีพอกิน ส่วนที่เหลือจึงจะนำออกขายเป็นรายได้ต่อไป และปัจจัยสำคัญในการผลิตของเกษตรกรก็คือ การมีแหล่งน้ำที่จะสามารถหล่อเลี้ยงพื้นที่การเกษตรนั้น ๆ ได้ ทั้งนี้พระองค์ท่านได้ทรงคำนวณสูตรการใช้ประโยชน์พื้นที่ การจัดการแหล่งน้ำที่จะเกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร
          จะเห็นว่าพระองค์ท่านได้ทรงคำนวณแล้วว่านี่คือความสมดุลหรือความพอดีที่จะเกิดขึ้นหากเราปฏิบัติตามแนวทางนี้  ถึงแม้ในความเป็นจริงเราอาจจะไม่สามารถทำได้ตรงตามนั้น เช่น เรามีข้อจำกัดด้านขนาดของพื้นที่ แต่เราก็สามารถยึดหลักการมาได้โดยจัดการตามเปอร์เซ็นที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงของพื้นที่  ซึ่งหากมองให้ลึกซึ้งแล้วจะเห็นความสมดุลในทุก ๆ ด้านจนเกิดเป็นวิถีชีวิตที่ยั่งยืน 
          ด้านสภาพแวดล้อมที่สมดุลได้แก่ ไร่นาสวนผสมที่มีความหลากหลายของพืชพรรณ  มีพืชหลักคือข้าวที่ต้องเพียงพอที่จะกินกันทั้งปี มีพืชรองและสัตว์เลี้ยงที่จะทำให้เราไม่ขาดแคลนสารอาหาร  พรรณไม้ที่หลากหลายก่อให้เกิดวงจรชึวิตที่สมบูรณ์ของพืชและสัตว์   เสริมสร้างโอโซน ทำให้เราได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี  การลงมือลงแรงผลิตและดูแลพืชผลที่ไม่มากและไม่น้อยจนเกินไปคือแค่พอมีพอกินเหลือขายเล็กน้อยทำให้ได้ออกกำลังกาย  ส่งผลสุขภาพของเราแข็งแรง  การรู้จักพอเพียงทำให้จิตใจของเราไม่ฟุ้งเฟ้อทะเยอทะยานจนเกิดความเครียด จึงมีแต่ความสงบสุข
         การทำตามหลักทฤษฏีใหม่ของพระองค์ ทำให้เราต้องใช้ความคิดในการวางแผนจัดการ ใช้การเรียนรู้  ทำให้เกิดเป็นสติและปัญญาตามมา  ซึ่งจะบันดาลใจให้มีความเพียรพยายามปฏิบัติจนชีวิตผ่านไปถึงจุดที่เกิดความสมดุลได้  คือการมีอาชีพที่ก่อให้เกิดผลผลิตที่จะเลี้ยงชีวิตอย่างยั่งยืน  แข็งแรง สมบูรณ์ จากปัจจัยด้านอาหารที่ครบถ้วนตามหลักโภชนาการ ปลอดสารพิษ   จากการได้ออกกำลังกายด้วยการทำงานกลางแจ้ง  จากการได้ใช้ชิวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีมีโอโซนบริสุทธ์  และจากการใช้ชีวิตอยู่อย่างเรียบง่ายไม่เร่งรีบ ไม่เครียด  ด้วยการยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพระองค์
         ผมเห็นว่านี่คือแนวพระราชดำริที่วิเศษที่สุด  สำหรับการสร้างสมดุลให้กับชีวิตของเราให้ดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืนและเป็นสุข  ถึงแม้วันนี้พระองค์ท่านจะเสด็จสวรรคตสู่สวรรคาลัยแล้ว  แต่วิถีชีวิตของราษฎรที่น้อมนำแนวทฤษฎีใหม่และยึดหลักเศรษฐิกจพอเพียงมาใช้นั้น  จะสืบทอดวิถีชีวิตที่สมดุลและมีความสุขอย่างยั่งยืนไปอีกนานแสนนาน
       
                                                                                                                ราเมศร์  เรืองอยู่
                                                                                                                    พ.ย. 2559