2.
ล้อรถเข็นผู้ป่วยแบบยางตัน ข้อดีคือ มีความทนทาน ไม่มีปัญหาเรื่องลมยาง
แต่มีข้อด้อยที่สำคัญคือ ใช้ได้เฉพาะบริเวณพื้นผิวเรียบไม่เช่นนั้นจะสะเทือนมาก
จึงไม่เหมาะกับการใช้ในพื้นที่นอกอาคาร
เบาะนั่งและพนักพิง
เบาะนั่งของรถเข็นส่วนใหญ่จะเป็นวัสดุชนิดเดียวกันกับส่วนที่เป็นพนักพิง ซึ่งโดยทั่วไปจะเป็นวัสดุที่ทำจากผ้า และ ทำจากหนังเทียมหรือไวนิล วัสดุที่ทำจากผ้ามีข้อเสียคือเปียกน้ำและทำความสะอาดยากแต่จะให้
ความรู้สึกสัมผัสที่สบาย ส่วนเบาะหนังเทียมจะไม่ชุ่มน้ำและทำความสะอาดง่าย แต่จะไม่ช่วยระบายอากาศขณะนั่ง
ส่วนความกว้างของเบาะนั่งนั้นจะขึ้นอยู่กับขนาดและรุ่นของรถเข็นแต่ละชนิด
ระบบห้ามล้อ
รถเข็นแต่ละรุ่นหรือยี่ห้อจะมีรูปแบบของระบบห้ามล้อที่แตกต่างกันไป
แต่ส่วนใหญ่จะใช้หลักการเดียวกันคือทำให้เกิดแรงเสียดทานเกิดขึ้นกับล้อหลังของรถเข็น บางรุ่นมีระบบห้ามล้ออยู่ที่มือจับเข็นรถอีกจุดหนึ่งด้วย
การเลือกรถเข็น
ในการเลือกรถเข็นให้เหมาะสมนั้นมีสิ่งที่ต้องคำนึงถึงหลายอย่างด้วยกัน ซึ่งเราคงไม่สามารถเลือกหรือตัดสินใจโดยใช้เกณฑ์ตัวใดตัวหนึ่งได้ คงต้องพิจารณาจากหลาย ๆ ปัจจัยประกอบกัน ผู้เขียนจึงขอกล่าวถึงหลักในการเลือกโดยยึดตามกรอบที่ใช้พิจารณาแบ่งเป็น
1.
การเลือกตามคุณลักษณะของรถเข็น
2.
การเลือกตามระดับความสามารถในการเคลื่อนไหวของผู้ป่วย
3.
การเลือกตามระดับของพยาธิสภาพในผู้ป่วยบาดเจ็บไขสันหลัง
4.
การเลือกตามประโยชน์ใช้สอย
5. การจัดรถเข็นตามสิทธิในการได้รับรถนั่งคนพิการ
การเลือกตามคุณลักษณะของรถเข็น
คุณลักษณะบางอย่างที่จะต้องพิจารณา:
1. น้ำหนักของรถเข็น รถเข็นแต่ละรุ่นหรือแต่ละยี่ห้อจะมีน้ำหนักที่ต่างกันไปตามวัสดุที่นำมาใช้ในการทำส่วนประกอบ รถเข็นที่มีโครงสร้างที่ทำด้วยเหล็ก และสแตนเลส จะมีน้ำหนักมาก ปัจจุบันมีการพัฒนามาใช้วัสดุที่มีน้ำหนักเบาและแข็งแรงมากขึ้น
เช่น ใช้อลูมิเนียมอัลลอยด์
ผู้ผลิตบางรายใช้ไททาเนียม
ทำให้ผู้ใช้มีความสะดวกสบายมากขึ้นในการเข็น เพราะรถเข็นที่น้ำหนักเบาจะเข็นและควบคุมได้ง่ายกว่า และการจัดเก็บก็ง่าย
สามารถพับเก็บและยกขึ้นรถได้อย่างสบาย
ผู้ผลิตบางรายก็ใช้วัสดุผสมกันเช่นเหล็กผสมอลูมิเนียม
ในการเลือกใช้วัสดุของผู้ผลิตน่าจะขึ้นกับการกำหนดต้นทุนการผลิต และวัตถุประสงค์ในการใช้งาน
2. ลักษณะการใช้งานสำหรับกลางแจ้ง /
ที่ร่ม ในการเลือกรถคงต้องดูด้วยว่าเราจะนำมาใช้งานในลักษณะใด เช่นใช้สำหรับเคลื่อนตัวจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งในบ้าน
เช่น จากเตียงไปที่ห้องน้ำ
ไปที่โต๊ะกินข้าว
หรือไปที่ห้องนั่งเล่น ก็น่าจะเป็นรถเข็นแบบธรรมดาทั่วไป แต่ถ้าต้องออกไปข้างนอก หรือไปกลางแจ้ง ก็คงต้องเลือกรถเข็นในแบบที่มีความคล่องตัวสูง
และแข็งแรงอย่างมาก
3. ความจุน้ำหนัก ความสามารถในการรับน้ำหนักของรถเข็นมักจะสัมพันธ์กับความแข็งแรงของวัสดุที่ใช้เป็นโครงสร้างหลัก หากใช้วัสดุที่แข็งแรงก็จะสามารถรับน้ำหนักได้มาก รถเข็นโดยทั่วไปจะสามารถรับน้ำหนักได้ไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยกิโลกรัม ส่วนขนาดของรถเข็นโดยทั่วไปก็จะแบ่งเป็นรุ่นที่มีความกะทัดรัด
ซึ่งเหมาะสำหรับการเดินทางที่ต้องมีการพับจัดเก็บ กับรุ่นที่มีขนาดตามมาตรฐานทั่วไป
4.
ความสามารถที่จะพับเก็บได้ รถเข็นประเภทรุ่นมาตรฐานทั่วไปส่วนใหญ่จะสามารถพับลำตัวเก็บได้หากไม่ใช้งานทำให้ไม่เปลืองเนื้อที่ในการจอดเก็บ
และมีความสะดวกสำหรับการเดินทาง เช่น
การจัดเก็บไว้ด้านหลังรถยนต์เก๋ง แต่รถบางรุ่นไม่สามารถพับได้ เช่น รถที่มีเบาะนั่งเป็นสแตนเลส หรืออลูมิเนียม และ รถที่ควบคุมด้วยระบบไฟฟ้า
5. แหล่งพลังงานของรถเข็นคนพิการไฟฟ้า
รถเข็นชนิดที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า
หากแรงส่งขับเคลื่อนอยู่ที่ล้อคู่หลังจะขับเคลื่อนได้เร็วกว่าชนิดแรงขับอยู่ที่ล้อคู่หน้า
6. การปรับเอนนอน รถเข็นบางรุ่นสามารถปรับเอนนอนได้ด้วยการพับพนักพิงเอนไปด้านหลัง
ซึ่งควบคุมด้วยระบบไฮดรอลิค หรือกลไกอื่น
ซึ่งเหมากับผู้ป่วยที่จำเป็นจะต้องมีการปรับนอนในบางช่วง เช่น
ผู้ป่วยที่ยังไม่สามารถปรับระดับความดันการไหลเวียนของเลือดได้ทำให้มีอาการหน้ามืดหรือเลือดขึ้นไปเลี้ยงสมองไม่พอในท่านั่งตัวตรง หรือผู้ป่วยที่ต้องการลดแรงกดบริเวณก้นกบในขณะอยู่ในท่านั่งนาน
ๆ
7. การถอดที่พักแขนได้ รถเข็นทั่วไปจะมีแบบที่สามารถถอดที่พักแขนที่อยู่ด้านข้างออกได้ กับ
แบบที่ไม่สามารถถอดที่พักแขนได้ ในการเลือกต้องดูที่ความสามารถของผู้ใช้ว่าในขณะเคลื่อนย้ายตัวจากที่หนึ่งมายังรถเข็นหรือย้ายตัวจากรถเข็นไปยังอีกที่หนึ่งนั้น
ใช้วิธีการใดในการเคลื่อนย้ายตัว
หากสามารถลุกจากรถเข็นยืนตรงแล้วหมุนตัวลงไปนั่งอีกที่หนึ่งได้ ก็ไม่จำเป็นต้องถอดที่พักแขนออกและที่พักแขนยังเป็นประโยชน์ในการเป็นที่ยึดของมือในขณะเคลื่อนย้ายตัวได้อีกด้วย
แต่หากผู้ใช้ไม่สามารถยืนได้จำเป็นต้องเคลื่อนย้ายตัวในลักษณะขยับสไลด์ตัวไปอีกที่หนึ่งทางด้านข้างของรถเข็น ที่พักแขนก็จะกลายเป็นสิ่งกีดขวางที่เราต้องเอาออกก่อนการเคลื่อนย้ายตัว จึงควรเลือกแบบถอดข้างได้
8. ที่วางเท้าสามารถปรับระดับสูงต่ำได้หรือไม่
ระดับของที่วางเท้าที่สูงต่ำมีผลต่อท่าทางของขาทั้งสองข้างของผู้นั่งบนรถเข็น หากสูงเกินจะทำให้เข่าชัน
เกิดความไม่มั่นคงของการทรงตัวและเกิดการบิดของข้อสะโพก รถในบางรุ่นจึงผลิตมาให้สามารถปรับระดับความสูงต่ำของที่วางเท้าได้
10. ความกว้างและความลึกของที่นั่ง ความกว้างและความลึกของที่นั่งจะมีผลต่อการทรงตัวในกรณีที่การทรงตัวของผู้นั่งยังไม่ดี หากกว้างเกินไปจะทำให้ตัวเอียง
ในการเลือกรถเข็นควรดูความกว้างที่พอดีกับขนาดลำตัวของผู้นั่งโดยวัดความกว้างของสะโพกขณะนั่ง
9. สามารถเอาที่วางเท้าหันออกไปได้หรือไม่และรูปแบบเป็นอย่างไร
รถบางรุ่นสามารถที่จะปลดล็อกแล้วหันที่วางเท้าออกไปด้านนอกตัวรถได้ และบางรุ่นยังสามารถถอดที่วางเท้าออกจากตัวรถได้ด้วย
ซึ่งเป็นประโยชน์ในกรณีที่ไม่ต้องการให้เกิดการกีดขวางในขณะที่เราเอารถไปจอดเทียบกับที่ที่ผู้จะนั่งเคลื่อนย้ายตัวไป หรือไม่กีดขวางเท้าของผู้นั่งขณะทำการเคลื่อนย้ายตัว
11. คุณสมบัติของวัสดุที่ใช้เป็นส่วนประกอบ
เช่น เช่น
เบาะนั่งและพนักพิงทำจากผ้าจะมีความนุ่มในการสัมผัส
แต่ทำความสะอาดยาก
แต่ถ้าเป็นหนังเทียมหรือไวนิลจะทำความสะอาดได้ง่ายกว่า
12. ระบบโครงสร้างและจุดสมดุล รถเข็นแต่ละรุ่นจะมีรูปแบบของโครงสร้างที่ต่างกันไป ถ้าแกนล้อหลังอยู่ค่อนมาทางด้านหน้าก็จะสามารถยกล้อหน้าได้ง่าย
แต่ถ้าล้อหลังค่อนมาทางด้านหลังก็จะยกล้อหน้าได้ยาก ซึ่งการยกล้อหน้าจะใช้เวลาที่ต้องมีการเข็นรถเข็นข้ามสิ่งกีดขวาง
เช่น ธรณีประตู ซึ่งรถเข็นบางรุ่นสามารถปรับแนวแกนล้อหลังได้แต่บางรุ่นก็ปรับไม่ได้
13. ขนาดของล้อ ขนาดของล้อหลังถ้าเป็นล้อขนาดเล็กซึ่งจะมีอยู่ในรถเข็นบางรุ่น
เช่น รุ่นท่องเที่ยว
จะไม่มีส่วนสำหรับใช้มือหมุน ( Hand Rim) ซึ่งผู้นั่งจะไม่สามารถเข็นได้เอง ส่วนรถเข็นที่มีล้อหลังขนาดใหญ่ส่วนมากจะมีส่วนสำหรับเข็นรถ
(Hand Rim) อยู่แล้ว
ส่วนขนาดของล้อหน้าของรถเข็นแต่ละรุ่นก็จะไม่เท่ากัน ล้อหน้าเล็กจะทำให้เลี้ยวง่ายแต่จะตกหลุมบ่อหรือร่องง่าย
แต่ถ้าเป็นล้อใหญ่จะเข็นผ่านทางขรุขระง่ายแต่เลี้ยวยาก
14. การรับประกัน การเลือกรถเข็นที่มีการรับประกันหลังการขายจะช่วยเพิ่มความมั่นใจในเรื่องของคุณภาพและการแก้ปัญหาในการใช้งาน ระยะเวลารับประกันที่นานมากขึ้นอาจจะช่วยให้เรามั่นใจมากขึ้นในเรื่องของคุณภาพรถเข็น
15. ค่าใช้จ่าย ราคารถเข็นแต่ละรุ่นหรือยี่ห้อก็มีราคาที่แตกต่างกันไปตามคุณภาพและความซับซ้อนของรถเข็น
รถที่มีรูปแบบการทำงานเหมือนกันแต่ใช้วัสดุที่ต่างกันราคาก็จะต่างกัน เช่นรถเข็นที่โครงสร้างทำด้วยอัลลอยด์ก็จะมีราคาสูงกว่ารถเข็นที่มีโครงสร้างเหล็กเกือบเท่าตัว แต่ก็เพิ่มความสะดวกในการใช้งานเพราะมีน้ำหนักเบา แข็งแรงทนทาน
ไม่เป็นสนิม
การเลือกตามระดับความสามารถในการเคลื่อนไหวของผู้ป่วย
ต้องคำนึงถึงผู้ใช้เป็นหลักว่ามีความสามารถในการเคลื่อนไหวระดับใด เช่น
กำลังของกล้ามเนื้อแขนและมือมีมากแค่ไหน
อ่อนแรงสองข้างหรือข้างเดียว
กำลังของกล้ามเนื้อลำตัวที่ใช้ในการทรงตัว
ในที่นี้จะขอแบ่งกลุ่มผู้ใช้ออกเป็น 4 กลุ่ม คือ
1. ผู้ที่เป็นอัมพาตครึ่งซีกหรือมีแรงแขนขาข้างเดียว
สามารถใช้รถเข็นรุ่นมาตรฐานทั่วไป
ไม่จำเป็นต้องถอดข้างได้ หากสามารถยืนขณะเคลื่อนย้ายตัวได้
2. ผู้ที่เป็นอัมพาตครึ่งท่อนล่าง
สามารถใช้รถเข็นรุ่นมาตรฐานทั่วไป
และควรเป็นแบบที่ถอดข้างได้เพื่อความสะดวกในการเคลื่อนย้ายตัว
หรือใช้รถเข็นแบบสำหรับนักกีฬา
3. ผู้ที่อ่อนแรงแขนขาและลำตัว ควรใช้รถเข็นที่สามารถปรับเอนนอนได้
มีระบบส่งกำลังที่ควบคุมด้วยไฟฟ้าหากไม่สามารถใช้มือเข็นรถได้
4. ผู้ได้รับบาดเจ็บระบบโครงสร้างของกระดูกและกล้ามเนื้อ
เช่น ขาหัก กระดูกสะโพกหัก
สามารถใช้รถเข็นรุ่นมาตรฐานทั่วไปได้
การเลือกตามระดับของพยาธิสภาพในผู้ป่วยบาดเจ็บไขสันหลัง
ในกลุ่มผู้ป่วยรับบาดเจ็บไขสันหลังที่มีการทำลายของระบบประสาทสั่งการจนมีผลต่อความสามารถในการควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อส่วนต่าง
ๆ ซึ่งจะมีผลมากน้อยขึ้นอยู่กับระดับการบาดเจ็บและความรุนแรงของพยาธิสภาพ เช่น บาดเจ็บไขสันหลังระดับคอจะมีปัญหาในการควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อแขนและมือลงไปถึงส่วนล่างของร่างกาย
โดยจะแบ่งระดับของพยาธิสภาพและความเหมาะสมของรถเข็นดังนี้
1. บาดเจ็บไขสันหลังระดับคอที่ 1-4
(C1-C4): ชนิดของรถเข็นที่เหมาะสม
-
รถเข็นที่สามารถปรับเอนนอนได้
-
รถเข็นแบบมีน้ำหนักเบา
-
รถเข็นที่มีระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าที่สามารถปรับนั่งหรือยืนได้
โดยใช้คางหรือศีรษะของผู้ป่วยในการควบคุมปุ่มบังคับ
2. บาดเจ็บไขสันหลังระดับคอที่ 5 (C5) : ชนิดของรถเข็นที่เหมาะสม
-
รถเข็นแบบมีน้ำหนักเบาปรับเอนนอนได้
-
รถเข็นที่มีระบบส่งกำลังให้สามารถปรับยืนได้
-
รถเข็นแบบมีระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า
3. บาดเจ็บไขสันหลังระดับคอที่
6 – 7 ( C6-C7) : ชนิดของรถเข็นที่เหมาะสม
-
รถเข็นแบบมีน้ำหนักเบาสามารถถอดปรับได้
-
รถเข็นแบบมีระบบส่งกำลังด้วยแขนและมือ
-
รถเข็นแบบสำหรับนักกีฬา
4. บาดเจ็บไขสันหลังระดับคอที่ 8 ถึงระดับอกที่ 1 ( C8 – T1) : ชนิดของรถเข็นที่เหมาะสม
-
รถเข็นแบบมีระบบส่งกำลังด้วยแขนและมือ
-
รถเข็นแบบมีน้ำหนักเบาสามารถถอดปรับได้
-
รถเข็นแบบสำหรับนักกีฬา
5. บาดเจ็บไขสันหลังระดับอกที่
1 ( T1) ลงมา : ชนิดของรถเข็นที่เหมาะสม
- รถเข็นแบบมีระบบส่งกำลังด้วยแขนและมือ น้ำหนักเบา ไม่
จำเป็นต้องปรับได้
- รถเข็นแบบสำหรับนักกีฬา
การเลือกตามประโยชน์ใช้สอย
ในการเลือกรถเข็นเพื่อให้สอดคล้องกับประโยชน์ในการใช้สอย
มักจะสัมพันธ์กับระดับความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวันของผู้ป่วย เช่น
ผู้ที่มีความยากลำบากในการเคลื่อนย้ายตัวจากรถเข็นไปนั่งที่โถชักโครก อาจต้องพิจารณาใช้รถเข็นที่ออกแบบที่รองนั่งที่เจาะรูสำหรับความสะดวกในการขับถ่ายเป็นต้น ซึ่งรถเข็นแต่ละแบบก็จะมีความหลากหลายในรายละเอียดดังนี้
- รถเข็นสำหรับนั่งขับถ่าย จะมีการเจาะรูให้สามารถนั่งถ่ายบนรถเข็นได้เลย แต่ก็จะแบ่งรุ่นที่มีถังรองรับอุจจาระในตัว
หรือบางรุ่นสามารถเข็นเข้าไปคร่อมบนโถชักโครกได้
แต่บางรุ่นก็จะมีข้อจำกัดคือไม่สามารถเข็นไปคร่อมบนโถชักโครกได้เพราะติดโครงสร้างของตัวรถด้านล่าง
- รถเข็นสำหรับใช้นั่งอาบน้ำ ส่วนมากจะทำด้วยสแตนเลสกันสนิม บางรุ่นเจาะรูบริเวณที่รองนั่งเพื่อความสะดวกในการขับถ่าย
แต่มีข้อจำกัดหรือข้อเสียคือบางรุ่นมีขนาดล้อเล็กทั้งสี่ล้อทำให้ผู้นั่งไม่สามารถเข็นเองได้ และมีขนาดน้ำหนักมาก
การจัดรถเข็นตามสิทธิในการได้รับรถนั่งคนพิการ
สำหรับผู้ป่วยหรือผู้รับบริการที่ใช้สิทธิในการขอเบิกรถเข็น
เช่นสิทธิประกันสังคม สิทธิของผู้พิการที่จดทะเบียนกับสำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ และสิทธิ์ข้าราชการหรือรัฐวิสาหกิจ ก็จะมี่รายละเอียดที่แตกต่างกัน ท่านสามารถหารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากนักสังคมสงเคราะห์ แต่โดยรวมแล้วแพทย์จะเป็นผู้ออกใบรับรองและกำหนดรูปแบบของรถเข็นตามระดับความสามารถในการใช้งานของผู้ป่วยหรือผู้รับบริการ
เช่น รถเข็นรุ่นมาตรฐาน หรือเป็นรถเข็นแบบที่สามารถปรับถอดข้างได้
เป็นต้น
-------------------------------------------------------------------------------
เบาะรองนั่งสำหรับรถเข็น ( Wheelchair Cushion )
เบาะรองนั่งถือเป็นอุปกรณ์ประกอบที่จำเป็นมากสำหรับผู้ป่วยหรือผู้พิการที่ใช้รถเข็นที่ไม่สามารถยกขยับตัวขณะนั่งรถเข็นได้เอง เพราะการนั่งบนรถเข็นเป็นเวลานาน ๆ จะทำให้เกิดการกดทับบริเวณกระดูกก้นกบจนกลายเป็นแผลกดทับได้ นอกจากนี้เบาะรองนั่งยังช่วยในการปรับระดับความสูงต่ำของตำแหน่งการนั่งเพื่อความสมดุล และทำให้เกิดความนุ่มสบายในขณะนั่ง โดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่มีรูปร่างผอม แผ่นรองที่ดีควรจะมีการรับน้ำหนักแล้วกระจายแรงกดได้ดี มีความยืดหยุ่นสูง
วัสดุที่นำมาใช้ทำเป็นส่วนของแผ่นรองก็มีความหลากหลาย มีคุณสมบัติและราคาที่แตกต่างกันไป เบาะรองนั่งใช้กันอยู่ในปัจจุบันสามารถแบ่งได้เป็น 6 ปะเภท ตามวัสดุที่ใช้ดังนี้
1. เบาะฟองน้ำ (foam cushions) ข้อดีคือมีราคาถูก น้ำหนักเบา
มีระดับความหนาหลายขนาด มีความหนาแน่นของเนื้อฟองน้ำแตกต่างกันไป และสามารถตัดแต่งให้เข้ารูปตามต้องการได้ แต่กระจายแรงกดได้ไม่ดีนัก
2.
เบาะลม (air-filled cushion) ข้อดีคือกระจายการรับแรงกดได้ดี มีน้ำหนักเบา
แต่จะมีการรั่วซึมได้ง่ายหากวัสดุห่อหุ้มฉีกขาดเสียหาย
และราคาค่อนข้างสูง
3. เบาะยาง (rubber cushions ) มีความทนทานแต่มีน้ำหนักมาก การกระจายแรงกดไม่ค่อยดีนัก
4.
เบาะเจล (gel cushions) ข้อดีคือกระจายการรับแรงกดได้ดี
ทนทาน ไม่มีปัญหาการรั่วซึม แต่มีน้ำหนักมากและ ราคาค่อนข้างสูง
5. เบาะแบบผสม (Hybrids Cushions) เป็นเบาะที่ออกแบบมาโดยเอาคุณสมบัติด้านการกระจายแรงกด และให้มีน้ำหนักเบา เช่นผสมระหว่างลมกับเจล หรือลมกับฟองน้ำ
6. เบาะน้ำ (water flotation pad) ข้อดีคือกระจายการรับแรงกดได้ดี
ราคาไม่แพง แต่มีน้ำหนักมาก
มีปัญหาการรั่วซึมหากวัสดุห่อหุ้มฉีกขาดเสียหาย
บรรณานุกรม
1. หลักสูตรอบรมการให้บริการรถนั่งคนพิการ: คู่มือประกอบการอบรม - ระดับพื้นฐาน © Sirindhorn National Medical
Rehabilitation Centre 2014[อินเทอร์เน็ต]. 2556 [เข้าถึงเมื่อ 2560 พฤศจิกายน
18].เข้าถึงได้จากhttp://apps.who.int/iris/bitstream/10665/78236/60/9789241503471_reference_manual_tha.pdf?ua=1
2. Lorraine Wiliams Pedretti, Barbara
Zoltan. Occupational
Therapy Practice Skills for Physical Dysfunction. 3 rd ed. Toronto: The C.V. Company; 1990
3. Jack R. Ford, Bridget Duckworth. Physical Management for the
Quadriplegic Patient. 2 ed. Philadelphia,
Pennsylvania: F.A. Davis Company; 1987