โรงเรียนชีวิต....กับโอกาสในการเรียนรู้
โดย...ราเมศร์ เรืองอยู่
เมื่อวันที่
21 – 22 เมษายน 2555
ในช่วงสาย ๆ ของวันที่ร้อนระอุ ข้าพเจ้าพาครอบครัวประกอบด้วยภรรยาและลูกสาววัยเก้าขวบย่างกรายเข้าไปสัมผัสชีวิตในอีกรูปแบบหนึ่งที่ข้าพเจ้าไม่คุ้นชินตามคำแนะนำของบุคคลท่านหนึ่งซึ่งข้าพเจ้าขออนุญาตเรียกท่านว่า
อาจารย์มณีวรรณ กมลพัฒนะ ที่ ๆ ข้าพเจ้าไปก็คือ มูร่าห์ฟาร์ม เป็นฟาร์มควายนมแห่งแรกของไทย ซึ่งอยู่ที่อำเภอแปลงยาว
จังหวัดฉะเชิงเทรา และในการเดินทางครั้งนี้ข้าพเจ้าไปฟร้อมกับเพื่อร่วมงานอีกสี่คน
ข้าพเจ้าทราบแต่เพียงว่าอาจารย์มณีวรรณต้องการให้ไปดูเกี่ยวกับโรงเรียนชีวิต แต่ก็ไม่ทราบว่าโรงเรียนมันเป็นอย่างไรและยินดีที่จะไปด้วยเหตุผลว่าเป็นโอกาสที่จะได้เจอและพูดคุยกับอาจารย์หลังจากที่ไม่ได้เจอกับท่านนานประมาณสองปีแล้ว และจะได้พาครอบครัวไปเที่ยวดูพาร์มความนม โดยเฉพาะลูกสาวที่อยากให้ได้ไปรับประสบการณ์ที่แปลกใหม่ และสุดท้ายที่ต้องได้แน่
หลังจากทานอาหารกลางวันที่แม่บ้านที่ฟาร์มปรุงให้ใหม่ ๆ ร้อน ๆ แล้ว ข้าพเจ้าก็มีโอกาสเดินสำรวจรอบ ๆ ฟาร์ม
รวมถึงลงไปสัมผัสเจ้าควายที่กระจายอยู่ตามคอกต่าง ๆ ซึ่งไม่ทราบว่าแบ่งอย่างไร
เพราะเป็นการเดินดูตามอัธยาศัยไม่มีไกด์แนะนำ ด้วยสภาพอากาศที่ร้อนมากทำให้เดินดูอยู่ได้ไม่นานก็กลับมานั่งในอาคารและสนทนากับอาจารย์มณีวรรณ ซึ่งวันนี้ท่านมากับน้องชายคืออาจารย์หมอไพโรจน์ และลูกชายของท่านคือคุณกมล
อาจารย์ก็พูดให้ฟังว่าอาจารย์จะทำโรงเรียนชีวิตและมีเอกสารให้เรา ซึ่งมีหลัก และสูตรในการเรียน
สรุปได้ว่าเป็นโรงเรียนที่หากเราปฏิบัติตามหลักและสูตรนี้แล้วสุดท้ายจะเกิดมุมมองของการดำเนินชีวิตที่มุ่งเน้นเรื่องของความสมดุลที่จะอยู่กับธรรมชาติอย่างเกื้อกูลซึ่งกันและกัน
การใช้ประโยชน์สูงสุดจากธรรมชาติโดยทำลายธรรมชาติน้อยที่สุด และใช้ปัญญาที่เกิดจากการฝึกปฏิบัติผ่านกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน
สุดท้ายเราจะสามารถผลักดันวิถีปฏิบัติผ่านช่องทางของแต่ละสาขาอาชีพไปสู่บุคคลอื่น
ๆที่มีความพร้อมตามบริบทของแต่ละคน
อาจารย์ได้กล่าวถึงเรื่องสภาวะของโลกที่เปลี่ยนแปลงว่าเราจะรับมือกับมันอย่างไร
การเมืองที่ผันผวนระดับโลกและระดับประเทศที่มีผลประโยชน์แอบแฝงหรือความไม่รู้จักพอเป็นพื้นฐาน สุดท้ายก็จะส่งผลกระทบมาที่ตัวเราอย่างเลี่ยงไม่ได้ ผ่านทุก ๆ ทาง
ทั้งธรรมชาติ ทางสังคม และเศรษฐกิจ
อาจารย์พูดถึงวิถีการกินที่มุ่งเน้นเรื่องการรักษาความบกพร่องของการทำงานของเซลร่างกาย
เนืองจากอาจารย์เป็นโรคหลอดเลือดสมองทำให้มีอาการเป็นอัมพาตครึ่งซีกซ้ายของร่างกาย ด้วยความที่เป็นนักวิทยาศาสตร์และเชี่ยวชาญเรื่องเคมี
อาจารย์จึงเลือกวิธีรักษาด้วยการรับประทานอาหารที่เป็นคุณกับความต้องการของร่างกายจริง
ๆ ภายใต้การกำกับดูแลของนายแพทย์สุชาติ
ซึ่งอาจารย์ต้องไปปรับสมดุลร่างกายทุกสัปดาห์
และอาจารย์ก็พิสูจน์ด้วยตนเองแล้วเห็นว่าระบบการทำงานของร่างกายดีขึ้นจริง เช่น
ระดับความดันเลือดเป็นปกติโดยที่ไม่ต้องใช้ยาปรับความดัน และปัจจุบันอาจารย์ก็ได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมะอย่างลึกซึ่งและทำกิจกรรมที่ส่งเสริมพุทธศาสนา
และดูเหมือนว่าอาจารย์พบสิ่งที่ยิ่งใหญ่และอยากให้มันเกิดประโยชน์กับคนที่ด้อยปัญญาเฉกเช่นข้าพเจ้า
กลุ่มของเราก็ได้มีการสนทนากันในประเด็นที่เกี่ยวกับธรรมะ เช่นคุณรัญจวน
ผู้ซึ่งเป็นเจ้าของฟาร์มที่ยึดถือปฏิบัติพุทธศาสนาแบบมหายานได้พูดเรืองแปดโลกที่มีตั้งแต่นรกถึงสวรรค์
ซึ่งข้าพเจ้าจำไม่ค่อยได้ ทราบแต่ว่าเรายังอยู่ในโลกมนุษย์ที่มีรัดโลภโกรธหลง
แต่สำหรับตัวข้าพเจ้าเองคิดแค่เพียงว่าในการดำเนินชีวิตนั้นขอให้รู้ตัวตลอดเวลาว่ากำลังรักโลภโกรธหรือหลง
เพราะถ้าเรามีสติมันจะทำให้เรารู้ว่าเราควรจะทำอย่างไร อาจารย์ถามข้าพเจ้าว่าเห็นอะไรจากการเดินดูธรรมชาติรอบ
ๆ ฟาร์ม
ข้าพเจ้าบอกว่าเห็นความลำบากท่ามกลางความร้อนทั้งของตัวข้าพเจ้าและของควาย และถามว่าขาพเจ้าว่าจัดสมดุลของชีวิตอย่างไร ปัจจุบันมีอะไรที่ทำให้ข้าพเจ้าเสียสมดุลบ้าง แต่ครั้งนี้ข้าพเจ้าไม่ได้ตอบคำถามของท่านตรง ๆ
เนื่องด้วยบรรยากาศของการพูดคุยกันหลาย ๆ
คนทำให้ประเด็นการตอบคำถามของข้าพเจ้าตกไปอย่างเนียน
แต่ข้าพเจ้าคิดว่าอาจารย์ทราบคำตอบเพราะเราเคยคุยกันเรื่องนี้เมื่อนานมาแล้ว
ตอนเย็นเราก็มีโอกาสได้ไปเดินเล่นชมฟาร์มกันอีกครั้งในบรรยากาศแบบแดดร่มลมตก แล้วต่อด้วยอาหารเย็นมื้อพิเศษ เพราะเป็นอาหารในรูปแบบที่เพื่อสุขภาพจริง
ๆ ประกอบด้วย สเต็กเนื้อ ซุปเอ็น พิซซ่า
โอเมกา 3 จากปลาสวาย และตบท้ายด้วยเค๊กชอคโกแลตหวานน้อยแสนอร่อยพร้อมกับร้องเพลงแฮบปี้เบิร์ดเดย์ให้อาจารย์หมอไพโรจน์
คุณพิมล และคุณต๋อม
แคร์กีฟเวอร์ของอาจารย์
หลังจากนั้นเราสนทนากันเรื่องอาหารการกินถึงประมาณสี่ทุ่มกว่าก็แยกย้ายกันไปพักผ่อน
ข้าพเจ้าได้ยินเสียงไก่ขันตั้งแต่ตีห้ากว่า ๆ และคิดว่าคงนอนต่อไม่หลับจึงเตรียมตัวลงมาเดินเล่นรับอรุณและสูตรอากาศสดชื่นพร้อมกับกาแฟหอมกรุ่นสักแก้ว แล้วทุกอย่างก็เป็นไปตามนั้น
และเช้านี้เราได้รับเกียรติจากเจ้าของฟาร์มคือคุณรัญจวนได้พาเรานั้งรถโฟร์วีลขับตะเวณดูรอบ
ๆ ฟาร์มบนเนื้อที่กว่าสี่ร้อยไร่
ซึ่งก็เป็นที่ตื่นตาตื่นใจเป็นอย่างมาก
ได้เห็นการพยายามบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดของเจ้าของฟาร์ม
เช่นการปลูกพืชหลากหลายชนิดเพื่อเป็นอาหารของเจ้าควายและได้ทดลองทดลองพันธุ์ไม้
และข้าพเจ้าก็เกิดความคิดว่าถ้าได้มีการพัฒนาในเชิงท่องเที่ยวก็น่าจะทำได้โดยจัดให้เป็นสถานีต่าง
ๆ เช่น สถานีรีดนม สถานีทำผลิตภัณฑ์จากนม สถานีผลิตอาหารควาย เป็นต้น
โดยพาหนะสำคัญที่จะใช้พานักท่องเที่ยวชมสถานีต่าง ๆ คือเกวียนที่ใช้ควายลากจูงเท่านั้น
เช้าวันที่สองนี้เราก็ได้รับประทานอาหารเชิงเพื่อสุขภาพอีก ประกอบด้วยนมวัว น้ำเวย์โปรตีนจากนม ไข่ลวก และชีช
ตามด้วยข้าวมันไก่และเครื่องใน
เมนูทั้งหมดนี้เน้นที่คุณค่าทางสารอาหาร
และทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกได้ถึงความอร่อยของชีชสดๆ
และไข่ลวกที่อร่อยแบบธรรมชาติไม่ต้องมีการปรุงรสใด ๆ
เช้านี้ข้าพเจ้าเห็นเดินออกกำลังกายแต่ในท่วงท่าที่ดูสงบเย็นแบบเดินจงกรม หลังอาหารเข้าเรามีการสนทนาเพื่อสรุป ประเด็นหลักก็คือชีวิตของคนเราสามารถเปรียบเทียบได้กับบัวว่าจะเป็นบัวอยู่ใต้ตรม อยู่ใต้น้ำ
อยู่ปริ่มน้ำ หรืออยู่พ้นน้ำ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะประพฤติตนอย่างไร โง่เง่าเต่าตุ่น หรือใช้สติปัญญา และอาจารย์ได้ตั้งคำถามให้ช่วยกันหาคำตอบว่าทำไมดอกบัวจึงเป็นสัญลักษณ์ของพุทธศาสนา สุดท้ายก็ได้ข้อคำตอบว่าเพราะดอกบัวแตกต้นมาจากรากเหง่า เติบโตผ่านโคลนตรม พ้นจากปากเต่า กุ้ง หอย ปู ปลา ชูขึ้นมาบานอยู่เหนือน้ำ มีกลีบ เกสร และเมล็ด แล้วก็เหี่ยวแห้งไป เหมือนการนิพพาน
ข้าพเจ้ามีความคิดเห็นเพิ่มเติมว่าการแพร่ขยายของไหลบัวเปรียบได้ดับการเผยแพร่ศาสนา
จะต้องมีภาวะหรือสภาพที่เหมาะสมจึงจะเกิดเป็นต้นและดอกได้ แต่ข้าพเจ้าคิดว่าบัวก็คือบัว
บัวมีธรรมชาติของบัวอย่าไปพยายามทำบัวให้เป็นอะไร และก็อย่าพยายามทำอะไรให้เป็นบัว พอจบเรื่องบัวก็เป็นเวลาสาย ๆ
เราก็แยกย้ายกันไปเตรียมตัวเดินทางกลับ
อาจารย์ก็แยกไปถ่ายรูปกับควายโคลนนิ่งตัวแรก และกลุ่มเราก็ได้ถ่ายรูปร่วมกันกับอาจารย์
หนึ่งเดือนต่อมาข้าพเจ้าก็ยังเป็นนักเรียนที่ไม่ตั้งใจเรียนเท่าไร เพราะไม่ค่อยได้ทำภาคปฏิบัติคือเรียนธัมม์ แต่ก็พยายามคิดตามว่าเราจะมีชีวิตอย่างไร
2 มิถุนายน 2555
ข้าพเจ้าตื่นมาตอนเช้ามืดประมาณตีห้า
พอลืมตาก็เห็นว่าอ๋อนี่ไม่ใช่บ้านเราแต่เป็นที่บ้านของพ่อภรรยาหรือพ่อตา หูก็แว่วเสียงไก่ขัน เสียงเพลงเก่า ๆ เสียงรถ เสียงวิทยุ
เสียงคนประกอบอาหาร
ทำให้นอนต่อไม่หลับ
ก็เลยนอนวิปัสสนาด้วยการติดตามลมหายใจตัวเอง ใจก็ลอยไปถึงเรื่องโรงเรียนชีวิตของอาจารย์มณีวรรณ
และทบทวนตัวเองดูว่าหลังจากไดเจอกับอาจารย์ที่มูร่าห์ฟาร์มก็ผ่านไปประมาณเดือนครึ่งเรามองเห็นชีวิตเป็นอย่างไร ก็ได้เห็นว่าตนเองนึกถึงเรื่องการกินอยู่อย่างพอดีและเป็นประโยชน์สูงสุดมากขึ้น
เวลาทานอาหารก็จะคิดว่ามันเป็นประโยชน์กับเราแค่ไหน เรากินมันเพื่ออะไร และได้เล่าให้คนอื่น ๆ
ฟังว่าเราได้รับประสบการณ์อะไรมาบ้างเกี่ยวกับการเลือกอาหารรับประทาน ก่อนหน้านี้ข้าพเจ้าก็เลือกปฏิบัติตามแนวทางที่เรียกว่าแมคโครไบโอติคอยู่แล้ว คือทานอาหารจากธรรมชาติอย่างธรรมชาติ
แต่ก็สามารถทำได้ระดับหนึ่งเท่านั้นเนื่องจากมีข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น ไม่สามารถปลูกพืชผัก และเลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ไว้ทานเองได้ ที่ทำได้คือพยายามหลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป และเลิกใช้เตาไมโครเวฟประกอบอาหาร
เพื่อทำให้กระบวนการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอาหารของเซลร่างกายเป็นไปตามธรรมชาติมากที่สุดและไม่เกิดพิษ แล้วสุดท้ายสุขภาพของเราก็จะแข็งแรงแบบยั่งยืนได้เองจากภายใน อีกเรื่องหนึ่งเรื่องของอารมณ์ที่นิ่งขึ้น ได้แนวมาจากอาจารย์ไพโรจน์เหมือนกันว่าคนเราสามารถปฏิบัติได้ตลอดเวลาด้วยการกำหนดลมหายใจ
แต่ข้าพเจ้าไม่ได้ปฏิบัติเหมือนกับอาจารย์ไพโรจน์ที่มีการกำหนดระยะเวลาในการหายใจให้ยาว ข้าพเจ้าทำได้เพียงการเฝ้าติดตามการหายใจของตนเอง
ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมาข้าพเจ้ามีประเด็นทางการปฏิบัติหรือเกี่ยวกับศาสนาพูดคุยแลกเปลี่ยนกับเพื่อนร่วมงานระหว่างมื้อกลางวันอยู่บ่อย
ๆ ได้ติดตามรายการ “พื้นที่ชีวิต” ของวรรณสิงห์
ประเสริฐกุล
ซึ่งเป็นรายการเกี่ยวกับปรัชญาชีวิต
โดยที่ข้าพเจ้ารู้จักรายการนี้จากอาจารย์มณีวรรณเมื่อสองสามปีก่อน และก็ได้อ่านหนังสือจากกัลยาณมิตร อย่างเช่น เรื่อง “๑ พระอาจารย์ ๙มารร้าย ปิดอบายใน ๑ พรรษา” ของพระอาจารย์
นวลจันทร์ กิตติปัญโญ และข้าพเจ้าได้ฟังบรรยายเรื่อง
“จะพัฒนาตนเองอย่างไร ให้มีความสุขในการทำงาน”
โดยนายแพทย์ไพบูลย์ ศรีแก้ว
ซึ่งก็เน้นที่การใช้ปัญญาในการคิดและปรับใจให้รู้ความจริง
สิ่งเหล่านี้ช่วยกระตุ้นให้ข้าพเจ้าหันมามองจิตใจตนเองมากขึ้น และเริ่มจะเกิดแนวคิดว่าข้าพเจ้าน่าจะทำให้ชีวิตของข้าพเจ้าให้เกิดความสมดุลได้ด้วยการปรับที่ใจ
ซึ่งมันจะส่งผลต่อพฤติกรรมและการแสดงออกของข้าพเจ้าต่อไป
แล้วสุดท้ายก็น่าจะส่งผลต่อทุกสิ่งที่แวดล้อมตัวข้าพเจ้า และน่าจะเป็นทางที่ดี
แต่สุดท้ายข้าพเจ้าก็ยังคงไม่เข้าใจว่าสิ่งที่ข้าพเจ้าทำนี้เกี่ยวข้องกับโรงเรียนชีวิตหรือไม่
วันที่ 1 สิงหาคม 2555 ผมเตรียมตัวเดินทางไปที่นครสวรรค์จังหวัดบ้านเกิดเพราะเป็นวันหยุดยาว
วันพฤหัสบดีเป็นวันอาสาฬหบูชาวันศุกร์ก็เป็นวันเข้าพรรษาต่อด้วยวันหยุดเสาร์อาทิตย์รวมสี่วัน ขณะเวลาเดียวกันก็กำลังแข่งขันกีฬาโอลิมปิกลอนดอนเกมส์กันอย่างเข้มข้น
ผมเกิดคำถามในใจว่ากีฬาแห่งมวลมนุษยชาตินี้เราจะชิงดีชิงเด่นกันไปเพื่ออะไร ทำไมต้องหาคนที่เร็วที่สุด คนที่แข็งแรงที่สุด คนที่มีทักษะทางการเคลื่อนไหวดีที่สุด ถ้ามองแค่ตัวคนผู้แข่งขันและทีมงานนั้น ๆ มันเกินสมดุลเกิดแนวคิดสุดโต่งหรือไม่
มันปลูกฝังว่าถ้าจะทำอะไรต้องทำให้ดีที่สุดหรือไม่ มันคงจะดีถ้าการกระทำนั้นมันคือทำดีสีขาว แต่อีกมุมหนึ่งของการต้องดีสุดโต่ง มันก็คือการเร่งเผาผลาญโลกนั่นเอง เพราะถ้าเราต้องใช้แต่ของดี ๆ
แสวงหาแต่สิ่งที่เราคิดว่าดี
ไม่ดีโยนทิ้ง หรือไม่ดีพอก็ใช้ไม่ได้ อย่างนี้โลกก็แย่แน่ ๆ
ถ้าคนส่วนใหญ่บนโลกมีแนวคิดนี้ในการดำเนินชีวิต
แล้วความสมดุลมันอยู่ตรงไหน
ข้อนี้ผมยังคิดไม่ออก
ซึ่งก็คงจะสอดคล้องกับแนวคิดของอาจารย์มณีวรรณว่าเราจะกินอาหารอย่างไรให้มันมีอาหารเปี่ยมคุณภาพพอเลี้ยงคนทั้งโลก เราคงต้องมองอีกมุมหนึ่งของความเป็นที่สุดนั่นคือทำให้มีคุณภาพดีที่สุด
*******************************************************************************************