วันอังคารที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2555

สมดุลชีวิต
 
        ขณะที่ผมเขียนบันทึกเรื่องนี้  ผมเฝ้าคุณแม่ที่กำลังนอนป่วยอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์  คุณแม่ท้องเสีย  ติดเชื้อ  ความดันต่ำจนใกล้ภาวะช๊อค  และการที่ต้องมานั่งเฝ้าคุณแม่ทุกวันนี่เองทำให้ตนเองได้นึกถึงเรื่องของสมดุลชีวิต
         ขณะที่นั่งพักอยู่ที่ระเบียงด้านหลังของตึกหลิ่มซีลั่น  ท่ามกลางบรรยากาศของท้องฟ้าอึมครึม  ฝนตกปรอย ๆ สลับกับตกหนาเม็ด เพราะเป็นช่วงวันเวลาที่มีพายุพัดผ่านเข้าภาคกลางพอดี ( วันที่ ๑๔ – ๑๘ กันยายน  ๒๕๕๕ )  รอบ ๆ บริเวณดูชุ่มฉ่ำแต่ไม่ปลอดโปร่ง  ต้นไม้เขียวสดชื่นใบเปียกโชกมีหยดน้ำเกาะและหยดที่ปลายใบ  บางต้นออกดอกสีสดใส  กระรอกน้อยสามสี่ตัวกระโดดหากินไปมาบนยอดไม้สูง  ทำให้บรรยากาศในโรงพยาบาล  สงบ  เป็นธรรมชาติ   และช่วยให้จิตใจของเราผ่อนคลายจากความวิตกกังวลต่าง ๆ ในความเจ็บป่วยของคนไข้ได้บ้างในบางขณะ  มันทำให้ผมเห็นความสำคัญของธรรมชาติได้ขึ้นมาทันทีว่า  ธรรมชาติช่วยรักษาภาวะสมดุลของความรู้สึกและจิตใจได้  ความฟุ้งซ่านต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น  ถูกดึงกลับมาให้สงบนิ่งได้ด้วยธรรมชาติเหล่านี้  มันมาช่วยถ่วงดุลกันได้จริง ๆ
        นี่เป็นครั้งที่สองในรอบหนึ่งเดือนที่คุณแม่ต้องมานอนที่โรงพยาบาล   คุณแม่ผมมานอนที่โรงพยาบาลครั้งแรกที่ตึกสามัคคีพยาบารได้ประมาณหนึ่งสัปดาห์ด้วยอาการข้ออักเสบและความดันโลหิตต่ำ รักษาจนอาการดีขึ้นคุณหมอก็ให้กลับบ้าน  แต่กลับไปได้แค่สี่วันก็ต้องกลับมาอีกในครั้งนี้ด้วยอาการท้องเสีย และความดันต่ำ   ทำให้ผมต้องเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตในสองช่วงเวลาที่คุณแม่นอนโรงพยาบาลนี้ไปจากเดิม  ปกติหลังเลิกงานผมต้องไปรับลูกที่โรงเรียนแล้วกลับไปทำงานบ้านและสอนการบ้านลูก  แต่ช่วงนี้ผมรับลูกแล้วขับรถไปที่โรงพยาบาลจุฬาต่อ  ระยะทางประมาณสามสิบกิโลเมตร  ลูกก็ทำการบ้านที่โรงพยาบาล  กว่าจะกลับมาถึงบ้านก็ประมาณสามสี่ทุ่มทุกวัน   หากเปรียบเทียบกับเวลาปกติจะเห็นว่าสมดุลชีวิตของผมเสียไป  สมดุลชีวิตของลูกผมก็เสียไป  และของคนอื่น ๆ ในครอบครัว เช่น ภรรยา  พี่สาว  น้องสาว  ก็เสียไป  ทำให้คิดได้ว่าวิธีปรับสมดุลที่ดีที่สุดคือการปรับตัวปรับใจให้ยอมรับและอยู่กับปัจจุบัน  การอยู่กับความเคยชินในอดีตมันจะทำให้ใจของเราฟุ้งซ่านและรู้สึกเสียศูนย์  เราจึงควรกลับมารักษาสมดุลหรือประคองใจให้นิ่ง  เปรียบเหมือนเรานั่งอยู่ในเรือที่ลอยไปตามกระแสน้ำ  เรือก็เหมือนใจของเรา  กระแสน้ำคือสิ่งที่มากระทบวิถีปกติของชีวิตให้เสียสมดุลหรือเปลี่ยนไปจากเดิม  เราคงไปกำหนดความเชี่ยวกรากของกระแสน้ำและทิศทางของมันไม่ได้  เพราะมันเป็นเรื่องของธรรมชาติ  แต่เราสามารถประคับประคองเรือของเราไม่ให้ล่มได้ นั่นคือการพยายามมุ่งรักษาสมดุลของเรือไม่ให้เอนเอียงจนเกินไป  ต้องมีการขยับโยกซ้ายย้ายขวา  จนถึงการโยนสิ่งที่จะทำให้เรือหนักเกินไปทิ้งลงน้ำไป   นั่นคือการรู้เท่าทันจิตใจตนเอง ณ ปัจจุบันว่าเอียงหนักไปทางใด  กำลังแบกทุกข์อะไรอยู่  อะไรที่ปล่อยวางได้ก็ตัดใจ  ไม่ต้องเก็บมาไว้ทุกเรื่องจนหนักใจเกินไป  เมื่อตั้งสติ  เห็นจิตใจตนเองได้  ก็จะประคองเรือชีวิตได้ต่อไปจนตลอดรอดฝั่ง
 
 
                                                                                                               ราเมศร์  เรืองอยู่
                                                                                                               กันยายน ๒๕๕๕
                                                                                                                                              

วันศุกร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2555


อุปกรณ์ช่วยในการยกตัว

      เป็นอุปกรณ์สำหรับให้ผู้ที่เป็นอัมพาตครึ่งท่อนล่างใช้ในการยกตัวให้ลอยจากพื้น  เพื่อลดแรงกดที่บริเวณก้นกบในขณะนั่ง  เพื่อลดแรงเฉือนในขณะเคลื่อนตัวไปด้านข้าง  และเพื่อใช้ออกกำลังกล้ามเนื้อต้นแขนในการเหยียดแขนและกล้ามเนื้อที่ใช้ในการยันลำตัว

       อุปกรณ์นี้เราสามารถประดิษฐ์ขึ้นได้เองจากท่อน้ำพีวีซี  ซึ่งมีความแข็งแรง ทนทาน  สามารถรับน้ำหนักได้ดี  หากเก็บรักษาในที่ร่มจะทนนานหลายปี  สามารถจัดหามาได้ง่าย  และราคาไม่แพง

อุปกรณ์ในการทำ

1.ท่อพีวีซีขนาด  1 นิ้ว   ตัดเป็นท่อนยาวขนาดต่าง ๆ ดังนี้

  - ยาว   45   ซม.    จำนวน   1  ท่อน        (A)

  - ยาว   15   ซม.    จำนวน   2  ท่อน        (B)

  - ยาว   12  ซม.    จำนวน   2  ท่อน        (C)

  - ยาว    20  ซม.    จำนวน   2  ท่อน       (D)

  - ข้องอ    จำนวน    6   อัน                      (E)

   -ฝาครอบ  จำนวน   2  อัน                     (F)

  2.  กาวทาท่อน้ำ
 
วิธีทำ

1.       ตัดท่อน้ำตามจำนวนและขนาดที่กำหนด

2.       ต่อประกอบตามขั้นตอนดังนี้

-           ใช้ข้องอสวมในท่อท่อน  A  ทั้งสองด้าน ปรับให้ข้องอตรงแนวเดียวกัน (ทากาวด้านนอกของท่อน้ำและด้านในของข้องอ)


-           ประกอบส่วนมือจับ โดยสวมข้องอที่ท่อท่อน  D ทั้งสองด้าน ปรับให้ข้องอตรงแนวเดียวกัน  (ทากาวด้านนอกของท่อน้ำและด้านในของข้องอ)

-           สวมท่อท่อน   B  และ  C  ที่  ที่ข้องอของท่อท่อน D ทั้งสองด้าน    (ทากาวด้านนอกของท่อน้ำและด้านในของข้องอ)

-           ประกอบส่วนมือจับโดยสวมท่อท่อน  C  เข้ากับข้องอของท่อน  A ทั้งสองด้าน  ปรับให้ได้มุม 90  องศากับแนวท่อท่อน  A (ทากาวด้านนอกของท่อน้ำและด้านในของข้องอ)

-           สวมฝาครอบที่ปลายท่อท่อน    B 


หมายเหตุ  - ท่านอาจลองประกอบโดยยังไม่ทากาวก่อน เพื่อสามารถปรับขนาดความสูง  ความกว้าง  ให้เหมาะสมกับขนาดรูปร่างของผู้ใช้  เมื่อได้ขนาดที่พอดีแล้วจึงประกอบใหม่ด้วยกาวยึดติด

   วิธีทำแป้งสำหรับฝึกการทำงานของมือ

            ในการฝึกการทำงานของมือ   นักกิจกรรมบำบัดมักจะใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า putty  หรือดินน้ำมันชนิดพิเศษ ที่มีความเหนียวหนืดคงที่ ไม่สามารถปั้นขึ้นรูปได้    โดยการนำมาให้ผู้ป่วยนวดเพื่อเพิ่มกำลังของนิ้วมือ  กดนวดเพื่อลดบวมของมือ  และเพิ่มช่วงการเคลื่อนไหวของมุมข้อนิ้วมือ  ขึ้นกับวัตถุประสงค์ในการใช้   ซึ่งตัว putty ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ  และราคาแพง    แต่เราสามารถทำแป้งสำหรับใช้เองได้  อาจจะขาดคุณสมบัติบางประการ เช่น  ความหนืดอาจจะด้อยกว่า  แต่ก็สามารถประยุกต์ใช้ได้  หรือที่รู้จักกันว่า “แป้งโดว์”

วิธีทำแป้งโดว์

           ส่วนผสมของการทำแป้งโดว์ ประกอบด้วย
1. แป้งสาลี 3 ถ้วยตวง
2. น้ำต้มสุก 2.5 ถ้วยตวง
3. เกลือป่น 1 ถ้วยตวง
4. ครึมออฟทาร์ทาร์ 1/4 ถ้วยตวง
5. น้ำมันพืช 2 ช้อนโต๊ะ
6. สีและกลิ่นผสมอาหาร (ที่ได้รับ อย.)
 
ขั้นตอนการทำ
1.      นำน้ำต้มสุกที่ยังอุ่นอยู่ หรืออุณหภูมิห้อง ใส่ภาชนะก้นลึก เทเกลือที่ตวงไว้ลงในภาชนะ คนจนเกลือละลาย แล้วพักไว้
2.      นำแป้งที่ตวงไว้แล้ว มาร่อน ตอนร่อนแป้งให้ใส่แป้งสาลีและครีมออฟทาร์ทาร์ลงไปร่อนพร้อมกันเลย
3.      เมื่อได้แป้งที่ร่อนแล้ว ก็ค่อยๆ เทน้ำเกลือลงไปในแป้งที่ร่อนแล้ว ตามด้วยน้ำมัน กลิ่น และสี คนให้เข้ากัน จนไม่มีเม็ดสาคู
4.      จากนั้นก็นำแป้งที่คนจะเข้ากันแล้วขึ้นตั้งเตา ถ้ามือใหม่เปิดไฟอ่อนๆ ก่อน กวนจนแป้งโดว์สุกทั่ว ปิดแก๊ส พักแป้งโดว์จนอุ่น แล้วนวดให้เข้ากัน
5.      ก่อนเก็บต้องแน่ใจว่าแป้งโดว์คลายความร้อนออกจนหมดแล้ว เย็นตัวดี จะใช้วิธีเก็บใส่กระปุกหรือจะแรปพลาสติกก็ได้   หรือจะเก็บในภาชนะที่ปิดสนิท เพื่อยืดอายุการใช้งานของแป้งโดว์ก็ได้
หากไม่มีแป้งสาลี ก็สามารถทำแป้งโดว์ได้
โดยการทำแป้งโดว์สูตรแป้งข้าวโพด  และแป้งข้าวเจ้าแทน   โดยใช้อัตราส่วน อย่างละครึ่งของสูตรแป้งสาลี
        
1. แป้งข้าวโพด 1.5 ถ้วยตวง
2. แป้งข้าวเจ้า 1.5 ถ้วยตวง
ส่วนผสมอื่นๆ ตามปกติ  วิธีทำก็เหมือนสูตรแป้งสาลี เพียงแต่เวลาผสมแป้งและน้ำเกลือเข้าด้วยกัน จะดูเบามือ ดูเหลวกว่าปกติ  เพราะแป้งข้าวโพดจะมีน้ำหนักเบา รอสักพักแป้งจะเริ่มข้นขึ้น เนื้อแป้งที่ได้ก็จะนิ่ม นุ่ม เหมือนสูตรปรกติ